Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกชอบเถียง พูดจายอกย้อนผู้ใหญ่ จะแก้ไขอย่างไรดี

Posted By Plook Parenting | 11 ม.ค. 60
12,837 Views

  Favorite

เมื่อถึงวัยที่เด็กเริ่มพูดได้ ทักษะทางด้านภาษาของเด็กก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวัย 3 - 5 ขวบ เด็กเรียนรู้มากขึ้น เริ่มมีความคิดและเหตุผลเป็นของตนเอง ทำให้เด็กสามารถถ่ายทอดความคิด ความต้องการและความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้มากขึ้น

 

เด็กที่พูดเก่งคือเด็กที่มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีคลังคำพูดอยู่ในหัวเยอะกว่าเด็กทั่วไป สามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี บางคนก็เป็นในลักษณะของเด็กช่างพูด พูดจารู้เรื่องน่าฟัง แต่บางคนก็พูดในลักษณะยอกย้อน ที่ผู้ใหญ่เรียกว่าเถียง ซึ่งเด็กในวัยนี้ยังแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด และไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดออกไปคือการเถียง

 

เด็กจะเรียนรู้ได้จากพฤติกรรมการตอบรับของผู้ใหญ่ที่แสดงต่อเขา

 

เช่น เวลาลูกพูดต่อปากต่อคำกับผู้ใหญ่แล้วผู้ใหญ่หัวเราะชอบใจ หรือพูดแล้วผู้ใหญ่โต้เถียงกลับในลักษณะเดียวกัน เด็กก็จะคิดว่าเขาสามารถทำพฤติกรรมนี้ได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมการพูดที่ไม่ดี ก็ต้องรีบฝึกทักษะการสื่อสารที่ดีให้กับลูก เพราะเป็นพื้นฐานสู่การเข้าสังคม เด็กมีที่ทักษะการสื่อสารดี รู้จักพูดรู้จักคุย จะเรียนรู้ได้เร็วและเป็นที่รักของคนอื่น ๆ มากกว่าเด็กที่มีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก

เพราะเด็กเล็กที่เริ่มหัดพูดอาจซึมซับพฤติกรรมการพูดจากผู้ใหญ่ในบ้าน ทั้งคำพูด ท่าทาง การใช้โทนเสียง หากไม่อยากให้เด็กโตมาเป็นเด็กช่างเถียง ช่างด่า หรือพูดคำหยาบคาย ผู้ใหญ่ในบ้านก็ต้องไม่ทำพฤติกรรมเหล่านั้นให้เด็กเห็น

2. ไม่ตอบสนองกับพฤติกรรมการพูดที่ไม่ดี

เมื่อลูกโต้เถียง หรือใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดฟัง โดยแสดงสีหน้าและท่าทางปกติ ไม่ควรต่อปากต่อคำกับลูก และไม่ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อให้เขารู้ว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่ไม่ควรทำ เมื่อลูกหยุดเถียงจึงค่อยๆ สอนและบอกวิธีสื่อสารที่ถูกต้องว่าควรพูดอย่างไร ควรใช้น้ำเสียงพูดกับผู้อื่นอย่างไรจึงจะน่าฟัง

3. สนับสนุนพฤติกรรมการพูดในด้านดี

เมื่อลูกเป็นเด็กช่างพูด คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เขาได้พูดบ่อยๆ หากิจกรรมที่เกี่ยวกับการพูดให้เขาทำ เช่น ให้ลูกลองเล่านิทาน หรือเล่าเนื้อเรื่องของการ์ตูนที่ลูกดูให้คนใกล้ชิดฟัง เขาจะได้มีโอกาสพัฒนาคำศัพท์ใหม่ๆ และยังเป็นโอกาสในการสอนลูกเกี่ยวกับมารยาทในการพูด แนะนำให้ลูกรู้ว่าคำพูดใดที่ควรพูดและไม่ควรพูด ทั้งกับผู้ใหญ่และกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน

4. เปิดโอกาสให้ลูกได้ชี้แจง

บางครั้งก่อนที่จะตัดสินว่าลูกกำลังเถียง คุณพ่อคุณแม่ต้องรับฟังเขาก่อน โดยให้เขาพยายามชี้แจงว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น อาจจะถามถึงสาเหตุและให้เขาพูดอย่างมีเหตุผล ซึ่งหากมีการพูดคุยกันด้วยความเข้าใจอยู่เสมอก็จะลดการเถียงลงได้ และเด็กก็จะเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่ดีด้วย

5. กำหนดบทลงโทษ

หากลูกมีพฤติกรรมเถียงซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งกฎในการลงโทษ อาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย เช่น งดกิจกรรมที่ชอบ ตัดค่าขนม งดขนม แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ขอโทษและให้เขาแก้ตัวใหม่ด้วยเช่นกัน

      

การจะสอนให้ลูกมีทักษะการพูดที่ดีนอกจากจะสอนด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เช่น พูดกับคุณปู่คุณย่าและคุณตาคุณยายด้วยคำพูดที่ดี ไม่โต้เถียงให้ลูกเห็น ถือเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุด เพราะเด็กในวัยนี้เรียนรู้ผ่านต้นแบบจากพ่อแม่ เมื่อลูกมีทักษะการพูดที่ดี เขาก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow