Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกพูดช้า ... เกิดจากอะไร

Posted By Plook Parenting | 07 ม.ค. 60
4,230 Views

  Favorite

คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลเมื่อลูกของตนถึงเวลาที่ควรจะพูดแต่ยังพูดไม่ได้ บางครั้งนำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ จนรู้สึกไม่สบายใจ แต่ในความเป็นจริงพัฒนาการด้านการพูดของเด็กโดยทั่ว ๆ ไปจะเริ่มมีในช่วงอายุที่ใกล้เคียงกัน โดยมากจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 เดือน – 15 เดือน

 

หรือเฉลี่ยประมาณ 1 ขวบ ก็จะพูดเป็นคำที่มีความหมายได้เป็นคำ ๆ เช่น ไป กิน หรือเรียก พ่อ แม่ และชื่อคนคุ้นเคยได้ ประมาณ 2 ขวบ ก็จะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย 2 คำ ติดกัน เป็นวลีสั้น ๆ ได้ เช่น ไปไหน ไม่เอา และประมาณ 3-4 ขวบ ก็จะเริ่มพูดเป็นประโยคยาว ๆ ได้ ซึ่งในเด็กแต่ละคนก็มีพัฒนาการที่ต่างกัน เช่น อาจพูดได้เร็วหรือช้าต่างกัน ความชัดเจนถูกต้องต่างกัน หรือจำนวนคำที่พูดได้ต่างกัน  

 

อย่างไรถึงจะเรียกว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องการพูด 

โดยทั่วไปแล้วเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบแล้วยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลย หรือพูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ ก็ถือว่าผิดปกติ แต่ก็ไม่ควรรอจน 2 ขวบ แล้วค่อยมาปรึกษาแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพัฒนาการทางภาษาของลูกตั้งแต่ขวบปีแรกว่าเป็นไปตามปกติหรือไม่ โดยสังเกตจากการสื่อสารว่าลูกเข้าใจหรือไม่ เช่น เรียกชื่อแล้วหันมาหรือไม่ สามารถทำตามคำสั่งได้หรือไม่ ซึ่งเด็กในวัย 1 ขวบนั้น สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ โดยพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ต้องประกอบทั้งทักษะการพูดและการฟังควบคู่กันไป

 

วิธีการ

1. ก่อนอื่นต้องหาสาเหตุก่อนว่าที่ลูกพูดช้าเป็นเพราะอะไร เกิดความผิดปกติของหูหรือไม่ เช่น การไม่ได้ยิน หูดับ หูหนวก พอไม่ได้ยินก็ไม่สามารถพูดออกมาได้ หรือมีภาวะออทิสติก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในเรื่องของการใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่น ถ้าพบว่าลูกไม่พูดเพราะมีปัญหาดังกล่าวต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

2. คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นกระตุ้นด้วยการพูดคุยกับลูกอยู่เสมอตั้งแต่แรกเกิด โดยเวลาพูดให้จ้องตาของลูก และพูดชัด ๆ ช้า ๆ แม้ในตอนแรกลูกยังไม่สามารถพูดตอบโต้ได้ แต่เขาก็จะพยายามหาวิธีสื่อสารกลับด้วยการเปล่งเสียง อือ อา ซึ่งเป็นก้าวแรกในการฝึกทักษะด้านการพูดและการฟังให้กับลูก

 

ภาพ : Pixbay

 

3. คอยให้กำลังใจในช่วงที่ลูกพยายามพูด แม้ในระยะแรกจะพูดไม่ชัด ไม่ควรตำหนิเด็ก แต่ควรพูดคำที่ถูกต้องให้เด็กฟัง อาจเลือกคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก่อน เพื่อให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้

 

4. ไม่ควรปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมเป็นเวลานาน เพราะทีวี หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ เป็นการสื่อสารเพียงด้านเดียว ไม่มีการโต้ตอบระหว่างกัน ทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการสื่อสาร จึงทำให้ไม่เกิดการพัฒนาทางภาษา ควรเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้งทางตา ทางหู การจับสัมผัส และยังฝึกการใช้จินตนาการ การมโนภาพ การเล่านิทานให้เป็นการฝึกทักษะทางการฟังและพูดที่เร็วและดีที่สุด

 

ภาพ : Pixbay

 

5. หากคุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตเบื้องต้นแล้วพบว่าลูกไม่มีความผิดปกติใด ลองเช็คดูว่ามีประวัติคนในครอบครัวเคยพูดช้าหรือไม่ ในกรณีที่เคยมีคนในครอบครัวพูดช้า ลูกก็อาจจะพูดช้า ซึ่งแพทย์เรียกว่า “มีความบกพร่องเฉพาะด้าน” เฉพาะการพูดอย่างเดียว แล้วต่อมาก็จะพูดได้ตามปกติ ไม่ควรคาดคั้นหรือลงโทษลูก เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียดและจะยิ่งไม่ยอมพูดมากขื้น

 

หากอยากให้ลูกมีพัฒนาการการพูดที่ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นกระตุ้นทักษะด้านการพูดกับลูก ยิ่งเด็กที่ได้รับการกระตุ้นให้พูดหรือมีการเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สมองของลูกจดจำคำศัพท์ได้มากขึ้นเท่านั้น

 

ภาพปก : Pixbay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow