Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คาถาลดความอ้วน และให้อายุยืน โดยพระพุทธเจ้า

Posted By มหัทธโน | 23 ธ.ค. 59
37,039 Views

  Favorite

 

จากข่าวดังในช่วงนี้ ที่ว่า ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรป (อียู) ในลักเซมเบิร์ก วินิจฉัยว่า ถ้าความอ้วนของใครไปรบกวนการทำงานของเพื่อนร่วมงาน ให้ถือเสมือนว่า ความอ้วนเป็นความพิการ หรือ เป็นผู้ทุพพลภาพ โดยคำสั่งในครั้งนี้ จะถูกใช้ไปเป็นบรรทัดฐาน หรือ แนวทางการวินิจฉัยของศาลในแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดแรงงาน ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงว่าที่นายจ้างและลูกจ้างด้วย กลายเป็นว่า ความอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลาย ๆ ท่าน ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความอ้วนเป็นสัญญาณแห่งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าเรื้อรัง จนถูกผูกโยงเข้ากับคำไม่น่าพึงปรารถนาอย่าง 'อายุสั้น' ไปเสียแล้ว 

 

แต่จะรู้กันไหมว่า ปัญหาการลดความอ้วนนั้น มีมาแต่สมัยพุทธกาล จนพระพุทธเจ้า ได้ทรงพระราชทานคาถาลดความอ้วนไว้และเห็นผลเมื่อปฎิบัติจริง

 

อ้างถึง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โทณปากสูตรที่ ๓ ข้อ ๓๖๔-๓๖๗ โดยเฉพาะข้อ ๓๖๕  

 

ที่มาของคาถา : เนื่องจากพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยมากไปแล้วเกิดความอึดอัด จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงมอบคาถาบทนี้ไว้ให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็มอบหมายหน้าที่นี้ไว้ให้สุทัศนะมาณพ คอยเตือนเมื่อจะทรวงเสวย โดยมีค่าเตือนให้วันละ 100 กหาปณะ ทำบ่อยครั้งจนสามารถลดน้ำหนักได้

 

 


พระเจ้าปเสนทิโกศลง่วงเพราะเสวยจุเกินไป               

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระราชาเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสารทะนานหนึ่ง กับสูปพยัญชนะพอควรแก่ข้าวสุกนั้น

วันหนึ่ง ท้าวเธอเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ยังไม่ทรงบรรเทาความเมาในภัตได้เลย ได้เสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา มีพระรูปอันลำบาก พลิกไปข้างนี้และข้างนี้ แม้ถูกความง่วงครอบงำ เมื่อไม่สามารถจะบรรทมตรง ๆ ได้ จึงประทับนั่ง ณ ที่สุดข้างหนึ่ง


พระศาสดาทรงติการบริโภคจุ               

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า

"มหาบพิตร พระองค์ยังไม่ทันได้ทรงพักผ่อนเลย เสด็จมากระมัง?" 


พระราชา

"ถูกละ พระเจ้าข้า, ตั้งแต่กาลที่บริโภคแล้ว หม่อมฉันมีทุกข์มาก" 


ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า "มหาบพิตร คนบริโภคมากเกินไป ย่อมมีทุกข์อย่างนี้"   แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

 

มนุชสฺส สทา สตีมโต   มตฺตํ ชานโต ลทฺธโภชเน
ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา   สณิกํ ชีรติ อายุ ปาลยนฺติ.

มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา
ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน ฯ

 

[๓๖๖] ก็สมัยนั้น มาณพชื่อสุทัศนะ ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสเรียกสุทัสสนมาณพมารับสั่งว่า

"มาเถิด เจ้าสุทัศนะ เจ้าจงเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วจงกล่าวในเวลาเราบริโภคอาหาร อนึ่ง เราจะให้นิตยภัตแก่เจ้าวันละ ๑๐๐ กหาปณะทุกวัน ฯ "

สุทัสสนมาณพรับสนองพระดำรัสพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

"เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้ แล้วเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคกล่าวในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารว่า

มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา
ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน ฯ

 

ผลก็คือ พระองค์ทรงสามารถลดปริมาณพระกระยาหารที่เสวยต่อมื้อลงได้เรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็ทรงลดน้ำหนักลงไปได้สำเร็จ

 

แต่ว่า การที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลดน้ำหนักได้นั้น ไม่ได้เป็นเพราะผลจากอิทธิฤทธิ์ความขลังของคาถาลดความอ้วนที่รับพระราชทานมาจากพระพุทธองค์  แต่มาจากการที่ทรงสามารถระงับพระราชหฤทัย ให้ทรงหยุดเสวยได้ เมื่อได้ยินคาถาเพราะทรงได้ฉุกคิดตามเนื้อความในคาถาต่างหาก

 

วิธีลดความอ้วนแบบอื่น ๆ ตามพุทธวิถี

 

หุ่นดีเพราะมีเมตตา

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งที่สอนว่า

เราไม่ควรบริโภคอาหารด้วยความสนุกสนานเมามัน แต่ควรบริโภคด้วยความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาหาร ซึ่งช่วยให้เรามีชีวิตรอดต่อไปเพื่อพัฒนาตนให้พ้นจากสังสารวัฏอันยาวไกล

โดยให้คำนึงถึงความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ที่ต้องยอมเสียสละชีวิตเพื่อให้เราอยู่รอด ถ้านำมาประยุกต์เป็นวิธีคิดลดความต้องการบริโภค โดยใช้พลังจินตนาการสร้างความคิด 'เชื่อมโยง' มองให้เห็นภาพความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหลัง ภาพอาหารอันน่าเอร็ดอร่อยต่าง ๆ ถือได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการภาวนาตามหลักพุทธศาสนา คือ สร้างความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายมองให้ทะลุถึงที่สุดแห่งโอชารส

ตามปรกติปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปเมื่อรับประทานอาหารที่มีรสชาติอร่อย จิตใจย่อมรู้สึกปลาบปลื้มยินดี ทำให้รู้สึกอยากรับประทานเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะแน่นท้อง และคิดติดใจว่านี้คืออาหารโปรดของเราที่จะต้องกลับมารับประทานบ่อย ๆ

 

อาหาเรปฏิกูลสัญญา

วิธีการต่อไปนี้ ถือเป็น 'ท่าไม้ตาย' ในการทำลายความยึดติดในรสชาติของอาหาร นั่นคือ ฝึกจิตคิดเห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลในขณะบริโภคอาหาร เป็นวิธีที่ออกจะ 'แรง' สักหน่อย แต่อาจได้ผลชะงัด และที่สำคัญคือเป็นการฝึกจิตให้มองทะลุผ่านภาพมายาแห่งรูป รส กลิ่น เสียง และทบทวนหลักแห่งความเป็นอนิจจังไปในตัว

นั่นคือการนึกเห็นสภาพของอาหารว่าเป็นปฏิกูลในขณะที่เราขบเคี้ยวอาหารอยู่ในปาก เช่น อาจจะนึกจินตนาการให้เห็นภาพอาหารที่เราขบเคี้ยวอยู่นี้อยู่ในใจว่า มีสภาพเป็นอาจม หรือ อาเจียน หรือนึกให้เห็นอาหารนั้นอยู่ในสภาพที่เน่าบูดมีแมลงวันตอม ฯลฯ

นี่ไม่ใช่วิธีคิดที่เสนอกันแบบสนุก ๆ แต่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในศัพท์แสดงของแวดวงพุทธศาสนาว่า 'อาหาเรปฏิกูลสัญญา' อันเป็นเทคนิคการคิดที่ทำให้จิตใจคลายจากความยึดติด ในรสชาติของอาหาร ถอยกลับคืนสู่ความเป็นปกติ ทำให้เกิดบริโภคอย่างพอดี ไม่บริโภคมากจนเกินไป และสามารถควบคุมจิตใจของตนเอง ไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับอาหารโปรด แต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนไม่มีความจำเป็นต้องไปพึ่งอาศัยยา

อันที่จริงแล้วการควบคุมอาหารหรือการลดความอ้วนนี้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ของคิดแบบ 'อาหาเรปฏิกูลสัญญา' เท่านั้น

 

แต่ผลตอบแทนอันคุ้มค่าสำหรับการฝึกคิดเช่นนี้ ท่านว่ามีอานิสงส์แรง เพราะสามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสหยาบๆ ได้ ส่งผลให้มีสุขภาพจิตผ่องใส สติปัญญาสว่างไสว อันเป็นพื้นฐานแห่งการหยั่งลงสู่ความเป็น 'อมตะ' อันได้แก่ ความไม่ตาย หลุดพ้น หมดทุกข์สิ้นเชิง."

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow