Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ด้านการพัฒนาสมอง

Posted By Plook Teacher | 08 ธ.ค. 59
35,236 Views

  Favorite

 

       กิจกรรมพัฒนาพุทธิพิสมัยหรือสมอง (Head) ที่ทำเพิ่มเติมนี้ ดำเนินกิจกรรมด้วยหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ “(1) ชวนคิด (2) ขบคิด (3) สะท้อนคิด (4) คิดต่อยอด และ (5) ประเมิน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้” ซึ่งในบางกิจกรรมอาจมีครบทุกหลักการ แต่บางกิจกรรมอาจเลือกบางหลักการเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรมซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน โดย 5 หลักการดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

 

(1) กิจกรรมชวนคิด เป็นกิจกรรมที่มุ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากที่จะเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิด ซึ่งคำถามที่ดี ควรเป็นคำถามที่ไม่ใช่คำตอบผิดถูก แต่เป็นคำตอบที่ท้าทาย อยากให้นักเรียนค้นหาคำตอบ

(2) กิจกรรมขบคิด เป็นกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนได้คิดจากการลงมือทำงาน โดยเน้นการคิดขั้นสูงที่หลากหลาย ผ่านกระบวนการคิดที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการดำเนินกิจกรรม ดังนั้นกิจกรรมนี้ครูจึงต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และช่วยให้การทำงานของนักเรียนเป็นไปตามเป้าหมาย

(3) กิจกรรมสะท้อนคิด เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังนักเรียนได้ทำกิจกรรมขบคิดเสร็จสิ้นแล้วเพื่อให้ผู้เรียนได้คิดทบทวนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปอย่างรอบคอบ และวิเคราะห์จุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการควบคุมการรู้คิดของตนเอง (Meta-Cognition)

(4) กิจกรรมคิดต่อยอด เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้นักเรียนนำสิ่งที่ได้จากกิจกรรมสะท้อนคิด มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นที่หลากหลาย และท้าทายความสามารถของผู้เรียนมากกว่าเดิม

(5) กิจกรรมประเมินเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ การประเมินกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้มุ่งประเมินเพื่อดูพัฒนาการ ความสำเร็จของนักเรียนแต่ละคน เทียบกับเกณฑ์ความสำเร็จ เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถของตนเองต่อไป

ภาพจาก : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา

 

       ทั้ง 5 กิจกรรมข้างต้น จะดำเนินการผ่านการตั้งคำถามจากครู เพราะคำถามเป็นสิ่งสำคัญที่จะจุดประกายให้นักเรียนใคร่เรียน ใคร่รู้ ใคร่แสวงหาความรู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด การตั้งคำถามในกิจกรรม ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถกระตุ้นผู้เรียนให้คิดเป็น เพราะผู้เรียนจะคอยคิดตอบปัญหาที่ผู้สอนถามอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การฝึกให้นักเรียนถามตนเองเพื่อตรวจสอบความคิดของตนเอง ก็เป็นการรู้คิดขั้นสูง หรือเป็นการฝึกคิดเรื่องการคิด (Meta-Cognition) ทั้งนี้การใช้คำถาม ควรใช้แนวคิดทฤษฎีที่ส่งเสริมการคิดควบคู่ไปด้วยกัน เช่น การใช้คำถามตามระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนตามแนวคิดของเบญจามิน บลูม (Benjamin Bloom,1995) ซึ่งจะกล่าวอย่างละเอียดในบทต่อไป ทั้งนี้ ครูผู้สอนจึงควรวางแผนการตั้งคำถามที่มีเป้าหมายชัดเจน และระบุไว้ในแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้การตั้งคำถามเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ด้านพุทธิพิสัยหรือสมอง จึงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามด้วยการยกตัวอย่างคำถามขั้นสูงไว้ในทุกๆ ระยะของการจัดกิจกรรมในขั้นเรียน

 

ลักษณะการใช้คำถามที่ดี
       นอกจากผู้สอนต้องรู้จักการใช้คำถามประเภทต่าง ๆ แล้วควรต้องรู้จักใช้ทั้งคำถามระดับต่ำหรือง่ายปนกับคำถามระดับสูง หรือคำถามยาก เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนคิดทั้งง่ายและยากขึ้นเป็นลำดับเพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้มีความสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เพื่อที่จะสามารถตัดสิน จะทำจะเชื่อ หรือแก้ปัญหาได้อย่างมีหลักการและถูกทาง นอกจากการฝึกใช้ประเภทคำถามแล้ว ยังต้องฝึกการถามในลักษณะดีหลีกเลี่ยงลักษณะไม่ดี ลักษณะการใช้คำถามที่ดี มีดังต่อไปนี้

 

1. เตรียมคำถามล่วงหน้า เพราะจะสามารถถามได้อย่างเรียงลำดับตามความง่ายยาก ตามลำดับเนื้อหา และช่วยให้มีความมั่นใจในการถาม
2. ถามอย่างมั่นใจโดยใช้ภาษาชัดเจน กะทัดรัด
3. ถามแล้วต้องมีเวลารอคอย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งเก่งและไม่เก่งได้คิดอย่างทั่วถึงจากนั้นจึงเรียกชื่อผู้เรียนให้ตอบคำถาม ไม่กำหนดผู้ตอบก่อนถามคำถาม
4. ถามทีละคน และตอบทีละคน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตอบหลาย ๆ คน ในคำถามเดียวกัน
5. ถามแล้วไม่ทวนคำถาม และไม่ทวนคำตอบ
6. ควรใช้ท่าทาง เสียงประกอบการถามเพื่อกระตุ้นความสนใจ
7. ควรใช้คำถามปูพื้น เมื่อตอบคำถามแรกไม่ได้
8. ควรใช้คำถามง่ายและยากปนกันในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ
9. ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนถามคำถามผู้สอน

 

       ผู้สอนที่มีทักษะการใช้คำถาม หมายถึง ผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจประเภทของคำถามต่าง ๆ รวมทั้งรู้ลักษณะที่ดีของการถาม และรู้วิธีหลีกเลี่ยงลักษณะที่ไม่ดีของการถาม และต้องเป็นผู้สามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติในการถามคำถามผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

 

บทต่อไปจึงมีเป้าหมายให้ครูเข้าใจประเภทของคำถามต่างๆ ตามตามแนวคิดของเบญจามิน บลูม (BLOOM’S TAXONOMY) เพื่อให้ครูสามารถประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพห้องเรียนที่แตกต่างกันได้

 

แนวคิด หลักการ และทฤษฎีเกี่ยวกับตั้งคำถาม BLOOM’S TAXONOMY

       จุดมุ่งหมายทางการศึกษาด้านพุทธิพิสัย ของบลูมได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างกว้างขวางรวมถึงจำแนกความแตกต่างระหว่าง “ความคิดระดับสูงกับความคิดระดับต่ำ”

       เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) ได้พัฒนาจุดมุ่งหมายทางการศึกษาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 6 ของศตวรรษที่ 20 (1950-1959) เพื่อช่วยครู นักการศึกษา และผู้บริหารทางการศึกษา ในการจำแนกจุดมุ่งหมายของการศึกษาอย่างเป็นระบบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจุดมุ่งหมายทางการศึกษาด้านพุทธิพิสัยของบลูมได้รับการยอมรับและมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เช่น การนำไปใช้ในชั้นเรียนในฐานะเครื่องมือสำหรับวางแผนการเรียนการสอน การตรวจสอบความสอดคล้องของจุดประสงค์สำหรับจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ได้มีการปรับปรุงนั้นคือ ด้านพุทธิพิสัย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เป็นลำดับขั้นและจะค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

 

       แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า การแบ่งสติปัญญาของบลูมที่เรียงจากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นที่ซับซ้อนเป็น 6 ขั้น คือ ขั้นความรู้ ขั้นความเข้าใจ ขั้นการนำความรู้ไปใช้ ขั้นการวิเคราะห์ขั้นการสังเคราะห์ และ ขั้นประเมินค่า นั้น ในบางวิชาไม่ได้เรียงลำดับการใช้สติปัญญาตามแบบที่บลูมได้กำหนดไว้ ดังเช่น สายวิทยาศาสตร์ การเรียงลำดับความรู้อาจจะไม่ตรงกันดังเช่น การสังเคราะห์ตามการแบ่งของบลูมอยู่ในขั้นที่ 5 แต่ในวิทยาศาสตร์พบว่า การสังเคราะห์นั้นเป็นการคิดในขั้นที่ 2 ต่อจากความจำ และในบางเรื่อง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ การใช้สติปัญญาในขั้นการประเมินค่าก็เป็นขั้นที่ไม่พบในความคิด

 

       จากปัญหาที่เกิดขึ้น แอนเดอร์สัน (Anderson) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของบลูมได้ศึกษาร่วมกับครัทวอล (Krathwohl) ในช่วงปีค.ศ.1995-2000 ในเรื่องจุดมุ่งหมายทางการศึกษาในด้านพัฒนาการทางด้านสติปัญญา และในปี 2001 ทั้งสองคนได้เสนอจุดมุ่งหมายทางการศึกษาฉบับใหม่ที่ปรับปรุงจากฉบับปี 1965 โดยได้นำเสนอการจัดแบ่งใหม่ออกเป็น 6 ขั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาพจาก : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงในการนิยามคำศัพท์
       การปรับปรุงจุดมุ่งหมายทางการศึกษาด้านพุทธพิสัยของบลูม ได้มีการปรับปรุงในเรื่องของการใช้คำศัพท์และการนิยามคำศัพท์ใหม่ โดยสามารถสรุปการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้

1. ความแตกต่างระหว่างคำศัพท์เดิมกับคำศัพท์ใหม่ ชื่อของกระบวนการทางปัญญา ทั้ง 6 ขั้น จะเปลี่ยนจากการใช้คำนามเป็นคำกริยา เนื่องจากจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ปรับปรุงใหม่นี้ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการคิดและการคิดเป็นกระบวนการของการกระทำ ดังนั้น จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ปรับปรุงใหม่นี้ จึงใช้คำกริยาเพื่ออธิบายกระบวนการทางปัญญาในลักษณะของการกระทำ

2. คำอธิบายหรือคำนิยามของกระบวนการทางปัญญาในแต่ละลำดับขั้น จะถูกแทนที่ด้วยคำกริยา และมีการปรับปรุงคำอธิบายหรือคำนิยามในบางลำดับขั้นด้วย
3. ในขั้นความรู้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ เนื่องจาก ความรู้คือผลลัพธ์หรือผลผลิตของการคิด ไม่ใช่รูปแบบของการคิด ดังนั้น คำว่า ความรู้ จึงแทนที่ด้วยคำว่า จำ
4. กระบวนการทางปัญญาในขั้นความเข้าใจ และการสังเคราะห์ ได้ถูกนำเข้าไปรวมไว้ในขั้น เช้าใจ และคิดสร้างสรรค์ ตามลำดับ เพื่อให้สามารถสะท้อนธรรมชาติชองการคิดที่นิยามไว้ในแต่ละลำดับขั้น

 

       ลำดับขั้นของกระบวนการทางปัญญาในจุดมุ่งหมายทางการศึกษาด้านพุทธิพิสัยของบลูมที่ปรับปรุงใหม่ (Bloom’s Revised Taxonomy) มีคำนิยามและคำกริยาที่แสดงพฤติกรรมแต่ละกระบวนการ รายละเอียดดังนี้

ภาพจาก : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา

 

แหล่งข้อมูล
กิจกรรม
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow