Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีได้บุญ ได้กุศล โดยไม่ต้องเสียเงิน แถมได้ผลบุญมากกว่า

Posted By มหัทธโน | 07 ก.พ. 56
31,362 Views

  Favorite

 

บุญทำได้ แม้ไม่ใช้สตางค์ กับ "บุญกิริยาวัตถุ 10"

เมื่อเอ่ยถึงการทำบุญ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิด คิดแค่ว่า ต้องเสียเงินทำบุญ คิดถึงแต่การบริจาคเงิน ในรูปแบบต่าง ๆ จนมีคำกล่าวว่า "โอ้ย ไม่มีเงินทำบุญ" 

แต่ความจริงแล้ว การทำบุญในพุทธศาสนาเลือกปฎิบัติได้หลากหลาย ทำได้ตามกำลัง ความสามารถตน แม้ยากจนไม่มีเงินทองเลย ก็สามารถทำบุญได้ เพราะยังมีอีกถึง 9 ข้อที่ทำแล้วได้บุญ โดยไม่ต้องใช้เงินทอง แถมมีผลบุญมากกว่าการให้แค่ทานซะอีก !!


บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ

คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือ การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล


1. บุญสำเร็จด้วย "การให้ทาน" (ทานมัย) 

การให้ทาน มีส่วนประกอบที่ต้องคำนึงถึง คือ จิตใจก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ 
ต้องสุขใจทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้แล้ว แค่รำลึกก็มีความสุข จึงจะเป็นบุญแท้ ๆ 

เช่น กรณีหากไปกู้หนี้ยืมสินเงินก้อนโตมาทำบุญจนหมดตัว จะไม่เข้าข่ายการมีความสุขหลังให้ เพราะรำลึกแล้วจิตใจเป็นอกุศลเศร้าหมอง ที่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน

 

องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการของการให้ทาน

การให้ทานจะมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก หากประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการต่อไปนี้แล้ว  

องค์ประกอบข้อ 1 : “วัตถุทานที่ให้ ต้องบริสุทธิ์”

องค์ประกอบข้อ 2 :“เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”

องค์ประกอบข้อ 3 : “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์” 
 

“เนื้อนาบุญ” ในที่นี้ ได้แก่ บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั่นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด

แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ 1 และ 2 จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือ วัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้น ก็ไม่ผลิตดอกออกผล 

 

ความสำคัญของเนื้อนาบุญ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงความสำคัญของเนื้อนาบุญดังนี้ 

1. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมเลยก็ตาม
ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

2. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม


3. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม


4. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 10 คือ สามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะถวายทานดังกล่าว แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


5. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล 10 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีปาติโมกข์สังวร 227 ข้อ

แม้แต่พระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มีศีลปาติโมกข์สังวร 227 ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น “พระ"” แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า “สมมุติสงฆ์”


พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุธรรม ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป

ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวช หรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น “พระ” ทั้งสิ้น และพระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับขั้น จากน้อยไปหามากดังนี้ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน


6. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็น พระโสดาปัตติมรรค และพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อ พอให้ได้ความเท่านั้น)


7. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


8. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


9. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


10. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าว แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


11. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


12. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทาน ดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม


13. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

"วิหารทาน"  ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมาก ในทำนองเดียวกัน


14. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง (100 หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็๖ม การให้ธรรมทาน ก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะ แก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้ว ให้รู้ยิ่งๆ ขึ้น ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์แจกหนังสือธรรมะ


15. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

 

16. การให้อภัยทาน ก็คือ การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่น แม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน

เพราะการให้อภัยทานเป็นการบำเพ็ญเพียรเสียสละ “โทสกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ ย่อมเป็นผู้ทรงญาณ ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

 

** อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” ในข้อต่อไปอยู่ดี เพราะเป็นการทำบุญบารมีคนละขั้นต่างกัน **

 

ภาพ : Shutter Stock

 

2. บุญสำเร็จด้วย "การถือศีล" (ศีลมัย) 

การรักษาศีล หมายความถึงการมีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีล

หากไม่มีเจตนา เพียงแต่ไม่มีโอกาสทำผิดศีล ก็ไม่ถือว่า มีศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลห้า ศีลแปด หรือศีลกี่ข้อก็ตาม เช่นกรณี คนแก่อายุ 100 ปี ไม่สามารถจีบสาวรุ่นได้ ไม่ถือว่ามีศีล เป็นต้น


       
3. บุญสำเร็จด้วย "การภาวนา" (ภาวนามัย) 

ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การอบรมจิต หรือพัฒนาจิตให้มีคุณภาพสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา คือ การทำใจให้สงบ หรือวิปัสสนาภาวนา คือ การทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงจนตัดกิเลสได้หมด


       
4. บุญสำเร็จด้วย "การประพฤติ อ่อมน้อม" (อปจจายนมัย) 

การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะจิตไม่แข็งกระด้าง

แต่ต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ได้แก่ คนที่อายุมากกว่าเรา คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา และคนที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรา


       
5. บุญสำเร็จด้วย "การขวนขวาย ช่วยเหลือผู้อื่น"  (เวยยาวัจจมัย)
 

ช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือต่อส่วนรวม อาทิ ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย

แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย หรือชี้ทางให้แก่คนหลงทางก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัยทั้งสิ้น

 

ภาพ : Shutter Stock

 


 6. บุญสำเร็จด้วย "การให้ส่วนบุญ" (ปัตติทานมัย) 

เมื่อทำบุญอันใดแล้วก็อุทิศส่วนบุญนั้นแก่ผู้มีพระคุณ หรือแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น จะทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้น เป็นการแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

จะทำโดยการอุทิศส่วนกุศลแก่คนที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบอกเล่าให้คนรอบตัวได้อนุโมทนาบุญไปด้วยก็ได้


       
7. บุญสำเร็จด้วย "การยินดีในบุญของผู้อื่น/อนุโมทนาบุญ" (ปัตตานุโมทนามัย) 

เมื่อได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นผู้อื่นทำบุญ ทำความดีก็พลอยปลื้มใจยินดีในบุญ ที่เขากระทำด้วยจิตอันบริสุทธิ์ เท่านี้ก็เป็นบุญแล้ว

 

ภาพ : Shutter Stock

 

8. บุญสำเร็จด้วย "การฟังธรรม" (ธัมมัสสวนมัย) 

การฟังธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปฟังพระเทศน์เท่านั้น แต่การอ่านหนังสือ ฟังเทป ดูโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องธรรมะก็เข้าพวก

เพราะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เนื่องจากผู้ที่เป็นสาวกนั้นจำเป็นจะต้องฟังธรรม มิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าและบรรลุมรรคผลได้


       
9. บุญสำเร็จด้วย "การแสดงธรรม" (ธัมมเทสนามัย) 

การแสดงธรรมจัดเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกว่าธรรมทาน เป็นทานที่มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง”

บุญอันเกิดจากการแสดงธรรมนั้น ไม่ใช่การพูดอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือธรรมะ การพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือการให้ทุนในการพิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแพร่ก็จัดเข้าในบุญข้อนี้ทั้งสิ้น
       


10.บุญสำเร็จด้วย "การปรับความเห็นให้ตรง" (ทิฎฐุชุกัมม์) 

ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระ หรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็น ให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ 

เป็นเพียงแต่เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น ก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครอบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคนเราเห็นถูกเห็นตรงเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่น ๆ ด้วยความสนิทใจและตั้งใจทำ
       

 

บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือยิ่งมากจนครบ 10 ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ

ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาลตามความละเอียดประณีตที่เข้าถึงยิ่ง ๆ  ขึ้นไป

 

นอกจากนี้บุญทุกประเภทจะนำมาซึ่งความสุข ความสงบ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"ปุญฺญานิ   กยิราถ  สุขาวหานิ.

บุคคลพึงทำบุญทั้งหลายไว้เถิด ซึ่งจะนำสุขมาให้"
       

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow