Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรียนรู้หลักการบริหารเงิน จากพระมหากษัตริย์นักออมเงิน

Posted By SataBhisha | 01 พ.ย. 59
96,013 Views

  Favorite

 

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า

การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
 


หลักการออมและบริหารเงิน รวมถึงสรุปประเด็นแนวคิดด้านการเงิน ที่ได้จากเรื่องราวของ “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” รัชกาลที่ 9  ซึ่งมีประโยชน์สำหรับทุกครอบครัวและทุกวัย


เรื่องที่ 1 สมเด็จย่าทรงปลูกฝัง วิธีการจัดการเงิน

เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ต้องสอนและได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก  


สมเด็จย่ามีวิธีการสอนอย่างไร เพื่อให้เป็นพระมหากษัตริย์นักออมเงิน  ติดตามจากหนังสือ“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงมีพระดำรัสดั่งข้อความในหนังสือความว่า

 

สรุปแนวคิดด้านการเงินของสมเด็จย่า

วิธีการสอนของสมเด็จย่าเพื่อสร้างพระมหากษัตริย์นักออมเงินนั้น เป็นวิธีที่แต่ละครอบครัวควรน้อมนำไปปฏิบัติตามอย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวทางที่เราเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์และทำได้จริง แนวคิดที่เราได้จากเรื่องนี้ คือ

 

- ให้เงินรายเดือนหรือรายสัปดาห์

“ในหลวงได้เงินค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง”


วิธีการให้เงินนั้นสำคัญ บางครอบครัวเด็กโตแล้วยังให้เงินเป็นรายวัน ทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีแบ่งเงินไว้ใช้เพราะรู้ว่าพรุ่งก็ได้เงิน ไม่ต้องรอนาน

หากเปลี่ยนวิธีการให้เงินเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เด็กจะรู้ว่าตนเองควรมีวิธีใช้เงินอย่างไร เพื่อให้มีเงินเหลือหรือเพียงพอใช้ก่อนที่จะได้รับเงินรอบใหม่
 

-  ให้เก็บเงินสะสม ซื้อของเล่นเอง

“ซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเอง เพราะของเล่นนั้นส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้”
เด็กกับของเล่นนั้นเป็นของคู่กัน เวลาเด็กอยากได้อะไรก็ร้องบอกให้ผู้ปกครองซื้อให้จนบางครั้งทำให้เด็กเสียนิสัย ติดวิธีการได้ของเล่นมาง่าย ๆ แล้วก็ทิ้งไปง่าย ๆ เช่นกัน

 

เมื่อสมเด็จย่าไม่ซื้อของเล่นให้พระองค์ก็ต้องสะสมเงินซื้อเอง หรือประดิษฐ์ของเล่นเองจากสิ่งของที่มีอยู่รอบตัว ทำให้มีความคิดต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ จึงกระทั่งกลายเป็น “กษัตริย์นักประดิษฐ์” อีกด้วย
 

-  ให้ของขวัญในวันพิเศษ

“ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้ ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ”

 


การให้ของขวัญพิเศษไม่ควรให้พร่ำเพรื่อ เพื่อฝึกความอดทน ให้เด็กเกิดการรอคอยและเห็นคุณค่าของขวัญที่ได้รับ

 

ดังนั้น ควรเลือกให้ของขวัญในวันพิเศษจริงๆ เท่านั้น อาจจะเป็นช่วงปีใหม่และวันเกิดก็ได้ ไม่ควรตามใจเด็กโดยการซื้อของขวัญให้บ่อยมากเกินไป จนเหมือนทุกวันเป็นวันพิเศษ

 

- สอนให้ฝากเงินในธนาคาร

“ท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว”

 

ภาพ : Google Plus


เมื่อเก็บเงินได้ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ต้องนำไปหาที่เก็บรักษาเงินเพื่อให้เงินเติบโต เพื่อฝึกให้เด็กทำเป็นนิสัย

ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเป็นการฝากเงินในธนาคาร แต่ปัจจุบันแตกต่างกับสมัยก่อนมาก เพราะมีสินทรัพย์ทางการเงินเกิดขึ้นมากมายให้เลือกลงทุน
 

เมื่อเด็กเติบโตจนกระทั่งเรียนเรื่องการคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว ควรทำให้เด็กรู้ว่าที่กำลังเรียนอยู่นี้ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบแล้วก็ลืมไปเท่านั้น

เราอาจจะนำตัวเลขในสมุดบัญชีธนาคารแบบออมทรัพย์หรือฝากประจำ แล้วก็สอนการคำนวณจากตัวอย่างจริง เพื่อให้รู้ว่าการเงินเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา
 

เรื่องที่ 2  ทรงเก็บออม เพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์

สรุปแนวคิดด้านการเงิน
 

ของใช้ส่วนพระองค์หลายชิ้น เช่น เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป จักรยาน ของเล่น  ทรงซื้อจากเงินออมที่เหลือจากเงินค่าขนม

หากได้รับเงินในโอกาสพิเศษจากสมเด็จพระพันวัสสาฯ พระองค์ก็ทรงเก็บสะสมไว้ สิ่งของบางชิ้นสมเด็จย่าก็ทรงช่วยโดยการสมทบเงินออมเพิ่ม เพื่อจะได้ซื้อของที่อยากได้เร็วขึ้น
 

เราสามารถนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวเราได้ คือ ซื้อของเมื่อเงินเราพร้อม เพื่อป้องกันตนเองจากสิ่งของฟุ่มเฟือยและหนี้สินพะรุงพะรัง

โดยต้องมี "วินัย" ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดความภูมิใจในตัวเองที่สุด  

 

เรื่องที่ 3 การสร้างรายได้และปลูกฝังการรู้จักให้

สรุปแนวคิดด้านการเงิน
 

เราสามารถนำเรื่องราวนี้มาประยุกต์ใช้กับตนเองได้ ในเรื่องของการสร้างรายได้ โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน เมื่อทำจนประสบความสำเร็จแล้วมีกำไรก็ค่อย ๆ ขยายให้เติบโตมากขึ้น

ในการจัดการบริหาร การประหยัดเงินนั้น ทำได้โดยจัดสรรปันส่วนแบ่งเงินรายได้ ออกมาเป็น 3 ส่วน คือ 

1. แบ่งเงินเพื่อเก็บออม ส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้และมักจะพูดว่ายากเสมอ แต่หากมีเป้าหมาย เชื่อหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ การออมเงินก็เช่นกัน โดยอาจเริ่มจากการออมเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ

2. แบ่งเงินรายจ่ายทุกเดือน ควรแบ่งเพื่อชำระหนี้ที่มีให้ตรงตามเวลา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่าง ๆ ให้เป็นวินัย 

3. เงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำ ซึ่งในแต่ละวันคุณอาจทำบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของเงินแต่ละบาทนั้น เสียไปกับเรื่องที่คุ้มค่าและมีประโยชน์จริงหรือไม่
 

ปลูกฝัง ยึดปฏิบัติให้รู้จัก "การให้" จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน เสียสละ เห็นใจผู้อื่น และกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวในเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม และยังให้เห็นคุณค่าที่เราเองได้หยิบยื่นให้ผู้อื่นอีกด้วยตามกำลังทรัพย์ที่มีและไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป

สามารถเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ เช่น ลุกให้คนแก่ คนท้องนั่ง ชะลอรถให้คนข้ามถนน อ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด ฯลฯ

 

เรื่องที่ 4 แนวคิดพอเพียง : ประหยัด และใช้ของให้คุ้มค่ามากที่สุด


ความประหยัดและใช้ประโยชน์ของสิ่งของได้ อย่างสูงสุด และมีประสิทธิภาพ

ห้องทรงงานนั้นจะอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆขนาด 3 x 4 เมตรเท่านั้นเอง ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา


เมื่อทรงออกตรวจงานภายนอก จะทรงรับสั่ง กับข้าราชบริพารเสมอ ๆ ว่า การนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง จึงทรงให้นั่งรถร่วมกันแล้วเรียกว่า “นั่งรถหารสอง” และไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียดด้วย


แนวคิดด้านการเงิน ปลูกฝังความพอเพียง


การรู้จัก "พอเพียง" ใช้จ่ายเท่าที่มี ไม่ยึดติดกับค่านิยม หรือวัตถุ ใช้จ่ายซื้อสิ่งของบางอย่างที่ไม่จำเป็น แล้วก็อยากซื้อเพื่อจะได้เหมือนคนอื่น หรือซื้อเพราะโฆษณา โปรโมชั่น ช่วยให้เงินเก็บเพิ่มมากขึ้นและสร้างความมั่นคงของชีวิตในอนาคตได้อีกด้วย

เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถนำเงินที่เก็บไว้มาใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ดังนั้น ความพอเพียงปลูกฝังได้ด้วยการกระทำ การมองโลกอย่างเข้าใจในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย 


เรื่องราวเหล่านี้ที่พระองค์ทรงปฎิบัตินั้นทำให้เรารู้ว่า การประหยัดเป็นวิธีการที่เราเริ่มทำได้ทันที โดยการใช้ของที่มีให้หมด ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด สมดั่งที่ทรงเป็นต้นแบบด้านการอดออม และบริหารเงินอย่างพอเพียงให้กับเราชาวไทย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • SataBhisha
  • 2 Followers
  • Follow