Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การประกาศผลรางวัลออสการ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งเเรก

Posted By Plook Panya | 19 มี.ค. 60
3,676 Views

  Favorite

19 มีนาคม พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953)
การประกาศผลรางวัลออสการ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งเเรก

มีการถ่ายทอดสดการประกาศผลรางวัลออสการ์ (Oscar) หรือรางวัลอะคาเดมี อะวอร์ดส์ (Academy Awards) เผยเเพร่ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลก โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงละครแพนเทจน์ ในฮอลลีวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนนาดา โดยมีผู้ชมทางบ้านจำนวนมากถึง 9 ล้านคนที่เฝ้าดูอยู่หน้าจอทีวี 

งานมอบรางวัลออสการ์เป็นพิธีมอบรางวัลด้านภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก ซึ่งจัดโดยสถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์  (Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือ AMPAS) เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นักแสดง ผู้กำกับ ทีมงาน รวมถึงสื่อบันเทิงต่าง ๆ ให้พัฒนาฝีมือต่อไปในอนาคต 
 

http://www.findingdulcinea.com/news/on-this-day/March-April-08/On-this-Day--First-TV-Broadcast-of-the-Oscars-.html
ฝูงชนที่โรงละครเแพนเทจน์ในฮอลลีวูดร่วมงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 25 ครั้งแรกที่มีการเผยเเพร่ภาพทางโทรทัศน์
จาก, http://www.findingdulcinea.com/news/on-this-day/March-April-08/On-this-Day--First-TV-Broadcast-of-the-Oscars-.html

 

 

ประวัติการจัดงานออสการ์

•พีธีมอบรางวัลออสการ์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1929 ในรูปแบบงานเลี้ยงอาหารค่ำเล็ก ๆ ที่โรงแรมฮอลลีวูด รูสเวลท์ (Hollywood Roosevelt Hotel) ในสหรัฐอเมริกา มีอัตราค่าเข้าชม 5 เหรียญ ($) ซึ่งในตอนนั้นมีผู้ร่วมงานไม่ถึง 250 คน เนื่องจากยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้งานประกาศผลเป็นที่รู้จักกันมากนัก 

•การจัดงานประกาศรางวัลครั้งที่ 2 ในปี 1930 ได้มีการกระจายเสียงรายงานสดผ่านทางวิทยุสู่เมืองใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานมาเป็นโรงแรมแอมบาสเดอร์ (Ambassador) และโรงแรมบลิทมอร์ (Biltmore)

•ปี 1953 มีการแพร่ภาพการประกาศรางวัลถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ขาวดำเป็นครั้งแรกของโลก และแพร่ภาพเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น 

•ปี 1966 เริ่มมีการแพร่ภาพการประกาศรางวัลถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์สีในปีนี้ และในปี 1969 จึงเริ่มออกอากาศทั่วโลกนับแต่นั้นมา
•สถานที่จัดพิธีประกาศรางวัลในปัจจุบัน คือ ดอลบี้เธียเตอร์ (Dolby Theatre) หรือชื่อเดิมว่า โกดักเธียเตอร์ (Kodak Theater) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา 

 เมื่อพิธีการประกาศรางวัลออสการ์ได้รับความนิยม และมีความยิ่งใหญ่มากขึ้น
ทางผู้จัดงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานในแต่ละปี ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ร่วมงานนั่นเอง 
 

http://www.discoverlosangeles.com/blog/historic-academy-awards-venues
บรรยากาศของพีธีมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรกเมื่อปี 1929
จาก, http://www.discoverlosangeles.com/blog/historic-academy-awards-venues


 

http://www.discoverlosangeles.com/blog/historic-academy-awards-venues
โรงละครเพนเทจน์ สถานที่จัดพิธีมอบรางวัลออสการ์แห่งแรกที่มีการเผยแพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ 
จาก, http://www.discoverlosangeles.com/blog/historic-academy-awards-venues

 

 

ธรรมเนียมการประกาศผลรางวัล

ในช่วงทศวรรษแรก การประกาศรางวัลสู่สาธารณชนจะทำโดยนำผลการตัดสินมอบให้แก่หนังสือพิมพ์ในเวลา 23 นาฬิกาของคืนวันงาน จนกระทั่งปี 1940 เมื่อหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทม์ (Los Angeles Time) ได้แอบทราบผลการตัดสินและนำไปตีพิมพ์สู่สาธารณชนก่อนพิธีประกาศรางวัลจะเริ่มขึ้น นับแต่นั้นมาผลการตัดสินจึงอยู่ในซองจดหมายที่ปิดผนึก และจะไม่มีใครทราบจนกว่าจะประกาศผลบนเวที
 

 

สัญลักษณ์บนถ้วยรางวัลออสการ์

“Academy Award of Merit” เป็นถ้วยรางวัลรูปอัศวินครูเสด
ยืนอยู่บนล้อฟิล์ม 5 แฉก มือถือดาบปลายแหลมชี้ลงพื้น หมายถึงความสำเร็จ ความมุ่งมั่น ความพยายามจนเอาชนะอุปสรรคได้
เปรียบได้กับอัศวินที่ต่อสู้เพื่อชัยชนะของตนเอง

•รางวัลนี้มีขนาดความสูง 13 นิ้ว หนัก 8 ปอนด์ ทำจากบริทานเนียมชุบด้วยทองคำบนฐานโลหะสีดำ ออกแบบโดย "เซดริก กิ๊บบอนส์"  (Cedric Gibbons) ซึ่งเป็นผู้กำกับศิลป์ของค่ายภาพยนตร์เอ็มจีเอ็ม (Metro Goldwyn Mayer หรือ MGM) และเป็นหนึ่งในสมาชิกเก่าแก่ของออสการ์นับตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดงาน กิ๊บบอนส์ได้คิดค้นและออกแบบโดยใช้หุ่นของนักแสดงชาวเม็กซิกัน "เอมิลีโอ เฟอร์นันเดส" (Emilio Fernández) มาเป็นต้นแบบ

•ในยุคแรกฐานของรูปปั้นนั้นทำจากหินอ่อนแกะสลักเป็นชื่อรางวัลในสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีเพียง 5 สาขาในตอนนั้น ได้แก่ นักแสดง เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการสร้าง และเทคนิคพิเศษ (สอดคล้องกับล้อฟิล์ม 5 แฉก)
กระทั่งปี 1945 เป็นต้นมา ฐานของรางวัลจึงได้เปลี่ยนมาทำจากโลหะแทน และเกิดเป็นรางวัลในสาขาต่าง ๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

•แม่พิมพ์ต้นฉบับของรูปปั้นออสการ์ทำขึ้นในปี 1928 ที่ C.W. Shumway & Sons Foundry ในบาตาเวีย รัฐอิลลินอยส์ (Batavia, Illinois) ในแต่ละปีรูปปั้นรางวัลออสการ์จำนวนประมาณ 40 อัน จะถูกผลิตขึ้นที่ชิคาโก (Chicago) โดยบริษัท R.S. Owens หากมีรูปปั้นใดทำออกมาแล้วไม่มีคุณภาพ รูปปั้นนั้นจะถูกตัดเป็นสองท่อนแล้วนำไปหลอมละลาย 

 

http://www.imdb.com/name/nm0316539/mediaviewer/rm2826045696
"เซดริก กิ๊บบอนส์"  (Cedric Gibbons) ผู้ออกแบบถ้วยรางวัลออสการ์
จาก, http://www.imdb.com/name/nm0316539/mediaviewer/rm2826045696

 

 

https://miblogestublog.com/2016/01/18/the-oscars-might-be-white-but-the-oscar-statue-is-mexican/
"เอมิลีโอ เฟอร์นันเดส" (Emilio Fernández) นักแสดงชาวเม็กซิกัน หุ่นต้นแบบถ้วยรางวัลออสการ์
จาก, https://miblogestublog.com/2016/01/18/the-oscars-might-be-white-but-the-oscar-statue-is-mexican/

 

 

ชื่อรางวัลออสการ์ (Oscar) มีที่มาจากไหน?

สำหรับที่มาของชื่อ "ออสการ์" (Oscar) ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่า "ใครเป็นผู้ตั้งขึ้น ?"

•เริ่มแรกมีการสันนิษฐานว่ามีที่มาจากนักแสดงหญิงคนหนึ่งชื่อว่า "เบตตี้ เดวิส" (Bette Davis) เธอได้กล่าวว่าเป็นผู้ตั้งชื่อรางวัลนี้จากชื่อสามีคนแรกของเธอ “แฮมมอน ออสการ์ นิลสัน” (Harmon Oscar Nelson) ซึ่งนิตยสารไทม์ก็ได้กล่าวถึงชื่อออสการ์ในบทความเกี่ยวกับงานประกาศ Academy Awards ครั้งที่ 6 เมื่อปี 1934 ขณะที่เบตตี้ขึ้นรับรางวัลด้วย

•อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง มาจากหนึ่งในพนักงานและเลขา ฯ ของผู้บริหารสถาบันชื่อ "มากาเร็ต เฮอริค" (Magaret Herrick)เธอได้ชมการมอบรางวัลในปี 1931 และได้เห็นรูปปั้นบนถ้วยรางวัลที่ทำให้เธอนึกถึงลุง "ออสการ์" (Oscar) ของเธอ จึงเรียกถ้วยรางวัลนี้ว่าออสการ์มาโดยตลอด เพราะฟังดูมีตัวตน และเรียกไม่ยากเหมือนชื่อ "Academy Awards" ชื่อ "Oscar" จึงกลายมาเป็นชื่อที่คนภายในสถาบันนำมาใช้เรียกกันเอง จนกระทั่งปี 1934 "วอล์ท ดิสนีย์" (Walt Disney) ได้ใช้ชื่อ "Oscar" เรียกรางวัล Academy ในขณะที่กล่าวสุนทรพจน์หลังจากขึ้นไปรับรางวัล คนทั่วไปจึงนิยมเรียกว่า "ออสการ์" (Oscar) ตาม

 

ทางสถาบันได้ยอมรับให้ชื่อ "Oscar" กลายเป็นชื่อเล่นอย่างเป็นทางการของ Academy Awards ในปี 1939

อย่างไรก็ตามทั้งคำว่า Oscar และ Academy Awards ต่างก็เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของสถาบันนี้

 

แหล่งข้อมูล
รางวัลออสการ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://fingerdimple.com/
Academy Awards. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://en.wikipedia.org/wiki/Academy_Awards
For reference: A historical timeline of the Oscars. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://collegian.com/2015/02/for-reference-a-historical-timeline-of-the-oscars/
A BRIEF HISTORY OF THE OSCAR®. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://hollywoodglee.com/2017/01/23/a-brief-history-of-the-oscar/
From Charlie Chaplin to ‘The Artist’: A complete history of the Oscars. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, http://www.hypable.com/oscars-a-history-of-the-academy-awards/
First Academy Awards telecast on NBC. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, http://www.history.com/this-day-in-history/first-academy-awards-telecast-on-nbc
Academy Awards. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://en.wikipedia.org/wiki/Oscar_statuette
OSCAR STATUETTE. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, http://www.oscars.org/oscars/statuette
Historic Academy Awards Venues .สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, http://www.discoverlosangeles.com/blog/historic-academy-awards-venues
งานประกาศผลรางวัลออสการ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จาก, https://th.wikipedia.org/wiki/งานประกาศผลรางวัลออสการ์
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow