Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี

Posted By Plook Panya | 11 มี.ค. 53
4,117 Views

  Favorite

 

4 มีนาคม พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)
เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีในท้องที่เขตบางเขน ระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คนได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ์

นายทองเปลว ชลภูมิ์, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล

 

กลุ่มการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มทหารและอำนาจนิยม, กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม

กลุ่มทหารและอำนาจนิยม นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนี้จะเสียอำนาจและลดบทบาทลงก่อนที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

กลุ่มอนุรักษ์นิยม เป็นกลุ่มนิยมเจ้าและขุนนางเก่า มีผู้นำคนสำคัญ เช่น ควง อภัยวงศ์, เสนีย์ ปราโมช และคึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนี้มีพรรคการเมืองของตนเองคือ พรรคประชาธิปไตย และพรรคก้าวหน้า ก่อนที่ใน พ.ศ. 2489 จะรวมตัวกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะมีบทบาททางการเมืองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในระหว่าง พ.ศ. 2488-2490 นั้นกลุ่มที่มีบทบาทมากกว่าคือ กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม

กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และโดยมากเคยร่วมงานกันในกลุ่มเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ กลุ่มข้าราชการพลเรือน ทหารเรือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจเอกชน ซึ่งรวมตัวกันอยู่ในพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญซึ่งมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้นำ และกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสหชีพซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ซึ่งนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง ก็เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคสหชีพ นายทองอินทร์ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกใน พ.ศ. 2487 ส่วนคนอื่น ๆ ได้เป็นรัฐมนตรีในระหว่าง พ.ศ. 2488-2490

 

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ และพวกก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทำให้กลุ่มทหารและอำนาจนิยมกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในระยะแรกคณะรัฐประหารเชิญนายควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่จะจี้ให้นายควงลาออกแล้วเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐประหารได้เฝ้าติดตามและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของตน ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา รัฐบาลจอมพล ป. ได้จับกุมบุคคลจำนวนมากในข้อหาต่าง ๆ กัน บุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลถวัลย์และกลุ่มผู้สนับสนุนปรีดี ในช่วงเวลานั้น ทองอินทร์ถูกจับกุมในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง ทองเปลวถูกจับกุมในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนถวิลถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวไป

ในช่วง พ.ศ. 2491 ทองอินทร์และถวิล ก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ส่วนจำลองถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานในการกระทำผิด ขณะที่ทองเปลวถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 หลังออกจากที่คุมขังก็เดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนัง

หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ซึ่งมีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ รัฐบาลได้อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการจับกุมและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา ทองอินทร์, ถวิล, และจำลอง ถูกจับกุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนทองเปลวได้รับโทรเลขลวงจากรัฐบาลแจ้งว่าปฏิบัติการของปรีดีสำเร็จลุล่วงด้วยดีจึงเดินทางโดยเครื่องบินเข้ามาในประเทศไทยและถูกจับกุมตัวในวันที่ 1 มีนาคม ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในข้อหากบฏ 4 อดีตรัฐมนตรีถูกข่มขู่และกระทำทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อให้รับสารภาพ

ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 4 อดีตรัฐมนตรีซึ่งถูกคุมขังไว้ในที่ต่าง ๆ กันถูกนำตัวขึ้นรถเพื่อนำไปคุมขังที่สถานีตำรวจบางเขน ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุม 4 อดีตรัฐมนตรีคือ พ.ต.อ.หลวงพิชิตสุรการ เมื่อมาถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน ตำรวจก็ลงมือสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีซึ่งถูกสวมกุญแจมือ กรมตำรวจอ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากโจรจีนมลายูบุกเข้าแย่งชิงนักโทษ ทำให้ 4 อดีตรัฐมนตรีถูกยิงตาย

 

เรียบเรียง : สุวัสดี โภชน์พันธุ์
บทความต้นฉบับจาก http://wiki.kpi.ac.th

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow