Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ

Posted By Plook Panya | 30 พ.ค. 59
8,065 Views

  Favorite


ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th

 

 

เมื่อวันที่ (26 พ.ค. 2559) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดตัว “Alertz” อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความง่วงด้วยคลื่นสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ พร้อมลงนามแลกเปลี่ยนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับบริษัท ไฟน์เนส เด ดีไซน์ จำกัด โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ และ สงกรานต์ สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ แต่อุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปีส่วนใหญ่พบว่ามาจากการง่วงแล้วขับ หรือเกิดการหลับในมากกว่า โดยอุบัติเหตุจากการหลับในของไทยมีความเสียหายคิดเป็น 4 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของนวัตกรรม “อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง หรือ Alertz” ซึ่งอาศัยการตรวจจับคลื่นสมองก่อนเกิดอาการหลับใน เพื่อแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้า
 

ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า เครื่องแจ้งเตือนการหลับในดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยของกลุ่มนักศึกษาจากศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Center) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ 2 ปี จากเทคโนโลยี Brain-Computer Interface โดยเครื่องจะอาศัยการตรวจจับคลื่นสัญญาณสมอง ซึ่งโดยทั่วไปคลื่นสมองของมนุษย์จะถูกแบ่งออกเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน แต่ละช่วงความถี่จะบ่งชี้ถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่วงคลื่นความถี่สูงจะบ่งบอกว่าร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัว หรือกำลังเครียด ช่วงคลื่นความถี่ต่ำจะบอกถึงสภาวะร่างกายในขณะที่นิ่งสงบ หรือนอนหลับ เป็นต้น ซึ่งหากคลื่นสมองเรามีความถี่ต่ำลงจากปกติ บ่งบอกถึงอาการเริ่มง่วง ก็จะทำการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยการสั่น ทำให้ป้องกันการเกิดการหลับในและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเทคโนโลยีตรวจวัดการหลับในอื่น ๆ ที่ตรวจแบบโดยอ้อม เช่น ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือพฤติกรรมการขับขี่ เป็นต้น ซึ่งมีใช้กันในปัจจุบันและใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว
 

ผศ.ดร.ยศชนัน กล่าวว่า คลื่นสมองของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ดังนั้น การที่เครื่องจะวัดว่าคลื่นสมองมีความถี่ที่ต่ำลงกว่าปกตินั้น จึงต้องมีการตั้งค่าให้เครื่องก่อน โดยต้องตั้งค่าก่อนใช้งานตอนที่ร่างกายมีความตื่นตัวเป็นปกติ ไม่ง่วง จากนั้นเปิดเครื่องและสวมเครื่องลงที่ศีรษะ รอนิ่ง ๆ เป็นเวลา 1 นาที เมื่อเครื่องสั่นแสดงว่าตั้งค่าสำเร็จแล้ว จากนั้นจึงนำไปใช้งานได้ หากคลื่นสัญญาณสมองความถี่ต่ำลงกว่าปกติลงมา 15 - 20% ก็จะส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะหลับใน และจะหยุดต่อเมื่อผู้ใช้งานรู้สึกตื่นตัวหรือหายง่วง นอกจากนี้ เครื่องยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เปรียบเสมือนกล่องดำของเครื่องบิน และสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือผ่านสายยูเอสบีและบลูธูทได้ โดยจะมีแอปพลิเคชั่นรองรับการใช้งานบนมือถือ ซึ่งจะสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์
 

“เครื่องดังกล่าวจะเน้นการใช้งานในกลุ่มการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ก่อน ซึ่งขณะนี้ได้การพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยนักวิจัยในทีมได้ร่วมกับบริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัท ไฟเนส เมด ดีไซน์ จำกัด เพื่อผลิตนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และได้ติดต่อกับทางบริษัทขนส่ง รถบรรทุก ขนส่งน้ำมัน รถโดยสารสาธารณะของเอกชน ซึ่งมีหลายรายได้สนใจซื้อไปทดลองใช้ ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้งาน 1 ปี เพื่อดูว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่ เพราะเครื่องสามารถเชื่อมต่อจีพีเอสได้ ทำให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ และทราบได้ว่า รถคันนี้บนเส้นทางนี้เกิดอาการง่วงหรือไม่ รวมถึงเป็นข้อมูลให้แก่กรมทางหลวงได้ว่าถนนเส้นไหนที่มีการง่วงนอนมาก เพื่อดำเนินการป้องกัน เช่น อาจติดตั้งป้ายแจ้งเตือนการหลับใน เป็นต้น และหากใช้งานได้ผลดี มีความต้องการมากขึ้นก็จะผลิตออกมาจำนวนมาก ราคาก็จะลดลง ซึ่งขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท และก็จะมีโอกาสขยายออกไปสู่การใช้งานของประชาชนทั่วไปต่อไป ถือว่าเป็นเครื่องที่จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และตอบสนองนโยบายความปลอดภัยของรัฐบาลได้” ผศ.ดร.ยศชนัน กล่าว

 

ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th 

 


ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th 

 


ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th 

 


ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th
 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow