Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กรุ๊ปเลือด...ไม่ได้มีไว้ทำนายนิสัย

Posted By Plook Panya | 26 เม.ย. 59
14,682 Views

  Favorite

แม้ว่ามนุษย์จะมีปมปัญหามากมาย เราล้วนมาจากสายเลือดเดียวกัน มันเป็นความคิดที่ดี แต่มันก็ไม่ได้ถูกต้องเท่าใดนัก และกรุ๊ปเลือดก็ไม่ได้ทำนายทายนิสัย คลายปัญหาอะไรได้ หากพิจารณาด้วยหลักฐาน และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์แล้ว กรุ๊ปเลือดไม่ได้สัมพันธ์กับนิสัยเลย

อันที่จริงเลือดของเรามีความแตกต่างกันเล็กน้อยแม้จะมาจากครอบครัวเดียวกันก็ตาม เลือดหรือของเหลวสีแดงที่อยู่ในร่างกายของเราไม่ได้เป็นสารประกอบตัวเดียว มันประกอบด้วยสารอื่น ๆ ผสมรวมอยู่ และนั่นยิ่งทำให้แตกต่างกันไปอีก แต่หลัก ๆ แล้วสีแดงของเลือดเรา เกิดจากเม็ดเลือดแดง
 

ภาพ : Pixabay


เม็ดเลือดแดงของเรามีโปรตีนที่เรียกว่า Hemoglobin ฮีโมโกลบิน ใช้ในการจับตัวเข้ากับอ็อกซิเจน ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสามารถขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ รวมถึงขนคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ กลับไปที่ปอดเพื่อปล่อยออกจากร่างกายอีกที ซึ่งฮีโมโกลบินมันประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก นี่แหละที่ทำให้เลือดมีสีแดง หากเป็นเลือดของสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ได้มีธาตุเหล็กประกอบอยู่ เช่น ปูซึ่งไม่มีฮีโมโกลบินแต่มี Hemocyanin จึงมีเลือดสีฟ้า นอกจากนั้นเม็ดเลือดแดงของเรายังมีโครงสร้างซับซ้อนอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ด้านน้องของเยื่อหุ้มเซลล์ โปรตีนนี้มีอีกชื่อว่า Antigen แอนติเจน มีไว้เพื่อทำการสื่อสารกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันร่างกายเราจากการติดเชื้อ แอนติเจนทำงานเป็นเครื่องหมายระบุตัวตน ซึ่งบอกระบบภูมิคุ้มกันของตัวเราว่าเซลล์นี้เป็นของร่างกายเอง ทำให้มันไม่โจมตีเหมือนสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย โดย แอนติเจนหลัก 2 ชนิดได้แก่ A และ B ซึ่งเป็นตัวจำแนกกรุ๊ปเลือดของเรา และทำให้เรามีกรุ๊ปเลือด 4 กรุ๊ป

 

แอนติเจนถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้ อัลลีล (Allele) 3 แบบแตกต่างกัน สำหรับกรุ๊ปเลือดแล้ว อัลลีน A และอัลลีน B เด่นทั้งคู่ ในขณะที่ O ด้อยกว่า ดังนั้นอัลลีน A และ A จะทำให้เราได้กรุ๊ปเลือด A ในขณะที่อัลลีน B และ B ให้กรุ๊ปเลือด B และหากคุณได้ทั้งอัลลีน A และ B ผลที่ได้คือเด่นทั้งคู่ และทำให้ได้ทั้งแอนติเจน A และ B ซึ่งคือกรุ๊ปเลือด AB อัลลีน O เป็นอัลลีนด้อย ดังนั้นหากมันเข้าคู่กับอัลลีนใดก็ตามก็จะถูกข่มไว้ และนั่นทำให้ได้กรุ๊ปเลือด A ไม่ก็ B แต่หากคุณได้รับอีลลีน O จากทั้งพ่อ และแม่ ซึ่งนั่นทำให้เม็ดเลือดไม่มีทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B และด้วยการตอบสนองต่ออัลลีนเช่นนี้ การรู้กรุ๊ปเลือดของพ่อแม่ทำให้เราสามารถคาดเดาความน่าจะเป็นของกรุ๊ปเลือดของลูกได้ และเรื่อยไปถึงการโอนถ่ายเลือดจำเป็นต้องเป็นกรุ๊ปที่เข้ากันได้ และไม่ขัดกันเอง หากใครก็ตามที่มีกรุ๊ปเลือด A ได้รับเลือดของผู้บริจาคที่มีกรุ๊ปเลือด B หรือกลับกัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะต่อต้านแอนติเจนแปลกปลอมและเข้าโจมตีทันที เซลล์ที่ถูกโจมตีและตายลงก็จะอุดตันระบบเลือด อย่างไรก็ดีคนที่มีกรุ๊ปเลือด AB สามารถสร้างได้ทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B ดังนั้นร่างกายจึงไม่สร้างผู้คุ้มกันมาต่อต้านเลือดกรุ๊ป A และ B และทำให้ร่างกายพิจารณาเห็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B ว่าปลอดภัย และสามารถรับบริจาคได้ทั้งสองกรุ๊ป ในขณะที่คนที่มีกรุ๊ปเลือด O ไม่ผลิตเลือดที่มีแอนติเจนใดใด จึงเป็นผู้บริจาคที่ดีแต่ไม่สามารถรับจากกรุ๊ปอื่นได้


แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น การให้บริจาคหรือรับบริจาคเลือดไม่ได้มีปัจจัยเรื่องระบบแอนติเจนที่กล่าวไปข้างต้นอย่างเดียว ยังมีระบบตัวแปร RH ได้แก่ RH+ อาร์เอชพลัส หรือ อาร์เอชบวก และ RH- อาร์เอชไมนัส หรือ อาร์เอชลบ ซึ่งอิงกับการมีหรือไม่มีแอนติเจน D ซึ่งเป็นตัวกำหนดกรุ๊ปเลือดในระบบ RH และนอกจาก RH นี้จะเป็นปัจจัยขัดขวางการถ่ายเลือดในบางกรณีแล้ว มันยังสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในการตั้งครรภ์หากมารดา และบุตรในครรภ์มีระบบ RH ต่างกัน แต่เนื่องจากระบบเลือดเป็นระบบที่มาคู่กับรหัสพันธุกรรม ดังนั้นการกระจายตัวของแอนติเจนแบบต่าง ๆ จึงเป็นไปตามภูมิภาคต่างๆของโลก คนที่มีเชื้อชาติใกล้เคียงกันมักจะมีกรุ๊ปเลือดที่เหมือนหรือต่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งลดปัญหาการหากรุ๊ปเลือดเพื่อการบริจาคยากได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการคมนาคมก้าวหน้า การโยกย้ายถิ่นฐานของคนมีมากขึ้นในปัจจุบัน บ่อยครั้งจึงเกิดปัญหาในการหารับบริจาคเลือดในกลุ่มเลือดที่หายากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ภาพ : Pixabay


โดยรวมแล้วกรุ๊ปเลือดเป็นตัวบ่งชี้ความสัมพันธ์ทางชีววิทยาของกลุ่มคนมากกว่านิสัย แม้หลายวัฒนธรรมเชื่อว่ากรุ๊ปเลือดมีความสัมพันธ์กับบุคลิกนิสัยก็ตาม แต่ที่แน่ชัดคือการทำนายเกี่ยวข้องกับหลักการณ์ทางสถิติมากกว่าทางชีววิทยา และจนถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่แน่ใจนักว่ากรุ๊ปเลือดถูกวิวัฒนาการขึ้นมาให้มีความแตกต่างหลากหลายไปทำไม นอกจากจะทำให้ยุ่งยากในการรักษาโรคเกี่ยวกับเลือด รวมถึงการรับบริจาคเลือด บางทีการป้องกันจากโรคที่มีสาเหตุจากเลือด หรืออาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมแบบสุ่มทำให้เกิดกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนที่ต่างออกไป และทนทานต่อโรคมากกว่าเดิม และหากคุณคิดว่าเรื่องแอนติเจน และกรุ๊ปเลือดของเราสับสนมากแล้ว คงต้องลองคำนวณแอนติเจนที่ทำให้เกิดกรุ๊ปเลือดที่แตกต่างกัน 13 แบบของสุนัขดู


ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow