Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะสร้างครูดีได้อย่างไร (How to make a good teacher)

Posted By Plook Education | 29 ก.ย. 59
3,623 Views

  Favorite

ความสําคัญของโรงเรียนอยู่ที่ครู โชคดีที่เราสามารถสร้างครูที่ดีและเก่งได้ ความลับที่ว่า ทําไมนักเรียนเรียน เก่ง พฤติกรรมดี คําตอบก็อยู่ที่ครู มีงานวิจัยที่อเมริกาพบว่า ครูเก่งระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ต้น สอนได้ผล ดีกว่าครูระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ท้าย ๆ ถึงสามเท่า มีนักวิจัยบางคนถึงกับกล่าวว่า ถ้าให้ครูระดับต้นๆไปสอนนักเรียนผิวดําในถิ่นยากจน ความแตกต่างของผลการเรียนของเด็กในชุมชนเศรษฐกิจดี ถึงชุมชนยากจน จะต้องลดลง

 

The Economist 


 
ทีนี้ก็มีปัญหาถกเถียงกันว่า ครูดี ๆ เก่ง ๆ นี้เป็นเองโดยกําเนิด (born teacher) หรือสร้างปั้นขึ้นมาได้ฝ่ายรัฐบาลก็ออกระเบียบมาตรฐานคัดครูดี ครูไม่ดีก็จะต้องให้ออกไปจากอาชีพนี้ ฝ่ายสหภาพครู (Teachers’ Union) ก็ว่าถ้าไม่มีกฏระเบียบหยุมหยิมมาบังคับกะเกณฑ์ครู ปล่อยให้ครูมีอิสระ ครูก็จะทํางานของครูได้ดี
 
ข้อถกเถียงข้างต้นนี้กําลังจะระงับไป เพราะกลุ่มอาจารย์ผู้ผลิตครูได้ค้นคว้าศาสตร์แห่งการสอน(pedagogy)และจะสามารถสร้างครูธรรมดาๆให้เป็นครูชั้นเยี่ยม เหมือนโค้ชนักกีฬานักกีฬาระดับความสามารถต่าง ๆ ให้เป็นนักกีฬาชั้นยอดเยี่ยม ถ้าครูฝึกหัดครูทําได้ ก็จะเป็นการปฎิรูปโรงเรียนอย่างใหญ่หลวง และเปลี่ยนชีวิตนักเรียนได้มากมาย
 
ประวัติการศึกษาจะมีปรากฎการณ์ต่างๆขึ้นมาเป็นระยะๆ ซึ่งทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฎิรูปการศึกษาโครงการ “สอนเพื่อนอเมริกา” (Teach for America) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นด้วย โครงการนี้ดึงบัณฑิตหนุ่มสาวเก่งๆมาสู่วิชาชีพครู แต่เนื่องจากอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องใช้กําลังคนมาก แต่การฝึกครูที่ยังใช้วิธีเก่าๆ ก็ผลิตครูไม่ยังไม่เป็นครูดีและเก่งออกมา ครูเหล่านี้จะเรียนรู้หลังจากเข้ามาอยู่ในอาชีพสองสามปีขึ้นไป หลังจากนั้น ครูก็จะสอนเรื่อย ๆ เนือย ๆ ไป เพราะโรงเรียนไม่คิดว่าผู้ที่ควรจะต้องเป็นผู้เรียนรับการสอนเพิ่มเติม คือ ครูในโรงเรียน! ครูในยุโรปและประเทศที่รํ่ารวย ส่วนใหญ่จะไม่เคยได้รับการสอนอบรมในอาชีพโดยการสังเกตการสอนของเพื่อนครู หรือ ให้ข้อคิดในการสอนซึ่งกันและกันเลย
 
สถาบันฝึกหัดครูควรจะต้องมีการปรับปรุงอย่างมาก เมื่อศตวรรษที่แล้ว อาชีพแพทย์ได้มีการยกเครื่องปรับปรุงหลักสูตรและการสอนโดยให้มีการเรียนภาคปฎิบัติ หรือ “ประสบการณ์คลินิก” ให้มากขึ้น
 
การสอนในสถาบันฝึกหัดครู ควรจะให้นักเรียนครูได้เรียนในสภาพห้องเรียนจริง ๆ ประเทศฟินแลนด์สิงคโปร์ และจีน (เซี่ยงไฮ้) ให้นักเรียนครูและครูใหม่เรียนรู้โดยการเป็นลูกมือหรือผู้ช่วยครูที่มีประสบการณ์โรงเรียนอเมริกันที่เป็นโรงเรียนระดับดีก็จะช่วยครูใหม่ โดยครูเก่าช่วยเป็นโค้ชและให้ข้อมูลย้อนกลับ
 
สถาบันฝึกหัดครูควรจะต้องปรับปรุงวิชาต่างๆ วิชาใดที่ไม่ช่วยให้นักเรียนครูสอนเป็น ควรจะต้องตัดออกและเพิ่มการสอนที่อาจารย์ฝึกหัดครูได้โค้ชนักเรียนครูให้มากขึ้น
 
ครูในโรงเรียนก็ควรจะปรับปรุงการสอน โดยการสังเกตการสอนและรับการฝึกจากโค้ช ครูใหญ่ที่ดีก็เป็นคนที่จูงครูใหม่ไปพบกับครูที่มีประสบการณ์ และให้ได้ศึกษาแผนการสอนและปฏิทินการทํางานร่วมกัน
 
การพัฒนาครูธรรมดา ๆ ให้เป็นครูมืออาชีพจะช่วยให้วิชาชีพครูสูงขึ้น เพราะฉะนั้น การช่วยพัฒนาครูใหม่และครูที่กําลังสอนอยู่จะช่วยให้ครูธรรมดาเป็นครูชั้นเยี่ยม

 

การฝึกหัดครู (Teaching the Teachers)

เชื่อกันว่าการสอนเก่งนั้นเป็นความสามารถมาแต่กําเนิด แต่นักปฏิรูปการศึกษามั่นใจว่า การสอนเก่งนั้นฝึกได้ สร้างได้
 
ครู จิมมี คาวานาห์ สอนคณิตศาสตร์ชั้นประถม 5-6 คล่องแคล่วมาก ครูท่าทางใจดี พูดจาชัดเจน นักเรียนเห็นว่า ครูจิมมีเป็นครูชั้นเยี่ยม ครูจิมมีสอนในโรงเรียนถิ่นยากจนที่นิวเจอร์ซี แต่นักเรียนทุกคนที่นี่ตั้งใจเรียนถึงมหาวิทยาลัย
 
ครูจิมมีเป็นผลผลิตของแนวการฝึกหัดครูแบบใหม่ ซึ่งแทนที่จะสอนทฤษฎีการศึกษาโดยการฟังคําบรรยาย แต่กลุ่มนักเรียนครูกลุ่มนี้จะได้รับการฝึกด้วยการปฎิบัติจริงในชั้นเรียน ตั้งแต่การฝึกระเบียบวินัยนักเรียนในห้องเรียน ตลอดจนการฝึกให้นักเรียนคิด
 
ครูจิมมีและเพื่อนครูรุ่นใหม่นี้เรียนระดับปริญญาโทที่สถาบัน “รีเลย์” (Relay) ที่ฝึกครูโดยประสมประสานทฤษฎีการฝึกแพทย์ ฝึกโค้ชทางกีฬา ทางธุรกิจ และทฤษฎีการเรียนรู้ใหม่ๆ เจมส์ แวรีล ผู้อํานวยการสถาบันรีเลย์ สาขานิวเจอร์ซี (ขณะนี้มีสถาบันรีเลย์ 7 แห่ง) กล่าวว่า สถาบันรีเลย์ฝึกครูด้วยการปฏิบัติจริงเช่นเดียวกับ แพทย์ฝึกนักศึกษาแพทย์ โค้ชฝึกนักกีฬา เพราะฉะนั้น คํากล่าวที่ว่า “คนรู้...ทํา แต่คนไม่รู้...สอน” (Those who can, do; those who can’t, teach.) จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว ครูต้องสอนได้ทําได้จริง
 
จอห์น แฮตตี้ แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น สรุปจากผลงานวิจัย 6,500 เรื่อง ถึงการสอนที่ให้ผลดีแก่เด็ก 250 ล้านคน เขาสรุปผลว่า เรื่องสําคัญที่สุด คือ ความชํานาญในการสอนของครู มิได้อยู่ที่การทําให้นักเรียนต่อห้องน้อยลง การแยกกลุ่มความสามารถ และอื่นๆ
 
อีริค ฮานเชค อาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ระบุว่าวิชาการที่ใช้ระยะการสอน 1 ปี ครูเก่ง ๆที่อยู่ในระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ต้นจะสามารถสอนเด็กได้ถึงหนึ่งปีครึ่ง (1.5 ปี) แต่ครูที่อยู่ในระดับล่างจะสอนได้เพียงครึ่งปี (0.5ปี)
 
การที่ความสามารถของครูแตกต่างกันนี้ นักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีก็สามารถทดแทนให้ลูกได้เช่น ให้เด็กได้เรียนพิเศษนอกเวลา จัดหาติวเตอร์พิเศษ แต่สําหรับเด็กจากครอบครัวยากจน ผลกระทบจะชัดเจน เพราะฉะนั้น โธมัส เคน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงกล่าวว่า ถ้าให้ครูเก่งระดับ 25 เปอร์เซ็นต์ต้นๆสอนเด็กๆในถิ่นยากจน ผลการเรียนของเด็กจะไม่แตกต่างจากผลการเรียนของเด็กในถิ่นฐานเศรษฐกิจดี
 
เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่า การปฏิรูปการศึกษา คุณภาพการสอนของครูเป็นเรื่อสําคัญที่สุดทีนี้ก็เกิดปัญหาเดิมว่า ครูดีนั้นเป็นมาแต่กําเนิด หรือสร้างได้ ปรากฏว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันเชื่อว่า ครูเก่งๆนั้นเป็นความสามารถพิเศษมาแต่กําเนิด มิใช่จากการฝึกฝน มารี ฮาเมอร์ หัวหน้ากลุ่มโรงเรียนอาร์ค (Ark) ที่อังกฤษ ซึ่งเริ่มการฝึกหัดครูแนวใหม่ กล่าวว่า “ครูมักจะได้รับการบอกให้ปรับปรุง แต่ไม่ให้แนวทางวิธีการที่จะปรับปรุง” สถาบันArk ก็เริ่มดําเนินการฝึกหัดครูแบบสถาบันรีเลย์ (Relay)
 
เดวิด สไตเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่า ในอเมริกา เกณฑ์มาตรฐานในการที่จะได้รับใบอนุญาตการสอนของครูยังตํ่ากว่าของนักกีฬา แต่ที่ประเทศฟินแลนด์ การสมัครเข้าเรียนในสถาบันฝึกหัดครูต้องผ่านการแข่งขันอย่างสูงเทียบเท่ากับการสมัครเข้าเรียนที่ MIT หรือ ฮาร์วาร์ด ทีเดียว
 
เดวิด เรโนลด์ ศึกษาเปรียบเทียบการสอนคณิตศาสตร์ที่นานกิง ประเทศจีน และที่เซอท์แธมตัน ประเทศ อังกฤษ พบว่า ในการสอนแต่ละคาบ ที่นานกิงะใช้เวลาถึง 72% เป็นปฎิกริยาโต้ตอบระหว่างครูกับนักเรียน ขณะที่อังกฤษใช้เพียง 24% เจมส์ สติลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียรายงานว่า ครูอเมริกันมักจะใช้คําถาม “อะไร” (What) ในขณะที่ครูญี่ปุ่นจะถาม “Why” และ “How” เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์
 
การฝึกหัดครูทั้งที่อังกฤษและอเมริกาเน้นหนักทางทฤษฎี มีภาคปฏิบัติน้อย นักศึกษาระดับปริญญาโทปีที่หนึ่งที่สถาบันสโปซาโต (Sposato Graduate School of Education) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกหัดครูแนวใหม่ที่เมืองบอสตัน สถาบันฝึกหัดครูแห่งนี้ได้รวบรวมเทคนิควิธีการสอนในชั้นเรียน มาฝึกให้แก่นักศึกษาครูก่อนออกฝึกสอน เปรียบดังนักศึกษาที่จะเป็นแพทย์ผ่าตัด (ศัลยแพทย์) จะต้องฝึกกับศพ ก่อนที่จะฝึกกับคนที่มีชีวิต สถาบันฝึกหัดครูแห่งนี้ได้สํารวจหาครูที่สอนดีมากๆ แล้วถ่ายวีดิโอการสอนของครูในชั้นเรียนเพื่อวิเคราะห์เทคนิคของครู ซึ่งมี 62 เทคนิค ตั้งแต่การใช้ “เสียง” และเทคนิคการพูดให้เด็กต้องตั้งใจฟังการถามเด็กโดยสุ่มเรียก การฝึกให้เด็กหันไปพูดคุยกับเพื่อนข้างๆ
 
นักศึกษาครูที่ Sposato จะฝึกสอนและเรียนภาคปฏิบัติที่โรงเรียน Match (โรงเรียนสาธิตของสถาบัน) นักศึกษาจะเรียนภาคปฏิบัติสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ช่วยติวนักเรียนและทํางานเป็นผู้ช่วยครูสัปดาห์ละ 40-50 ชั่วโมง อาจารย์กัทเลอเนอร์แห่งสถาบันฝึกหัดครูใหม่นี้ กล่าวว่า ผลสําเร็จของนักศึกษาครูที่นี่จะดูได้จากผลการประเมินการเรียนภาคปฏิบัตินี้
 
การสอนในโรงเรียนระดับดีในทวีปเอเชีย (ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี) จะใช้วิธีสอนอบรมครูแบบให้ครูเก่าช่วยครูใหม่ ซึ่งในประเทศตะวันตกกลุ่ม OECD จะไม่ค่อยมีระบบครูช่วยครู เพราะการสอนของครูจะเป็นแบบ “ปิดประตูสอน” สหภาพครูเองก็ไม่สนับสนุนให้ผู้อื่นมาสังเกตและบันทึกการสอนของครู ปาสิ ซาลเบิร์ก นักการศึกษาชาวฟินแลนด์บอกว่า “ความสําเร็จทางการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ เกิดขึ้นจากการที่ครูฟินแลนด์ทํางานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน”
 
วิชาชีพครู นอกจากจะต่างคนต่างอยู่แล้ว ยังไม่ค่อยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงวิชาชีพ กัทเลอเนอร์แห่งสถาบัน Sposato ฝึกหัดครูแนวใหม่ยังกล่าวว่า ครูใหม่และครูที่สอน 20 ปี จะบอกว่า ไม่มีปัญหาที่จะต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และโปรแกรมอบรมครูก็ไม่ได้ผลนัก เมื่อปี 2011 ที่อังกฤษพบว่า วิชาการศึกษาที่เรียนกันนั้น ได้นําไปใช้ในการสอนดีๆเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่อเมริกาก็เช่นกัน โครงการครูใหม่ (The New Teacher Project) ใช้เงินเป็นจํานวนมาก อบรมครูใหม่แต่ครูก็ไม่ดีขึ้นมากนัก ครูสามในห้าคนของกลุ่มครูที่อยู่ในระดับตํ่าคิดว่า ตนเองสอนดีมาก ครูในประเทศตะวันตก กลุ่ม OECD รวมทั้งประเทศอังกฤษด้วยเก้าในสิบคนมั่นใจในความรู้และวิธีการสอนของตน ทั้งๆที่การสํารวจเมื่อเร็วๆนี้ นักเรียนก็ยังตอบว่า ครูสอนให้จํา
 
จากการศึกษาสํารวจครั้งใหญ่ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อ มีนาคม 2016 นี้ โรลัง ฟรายเออร์ แห่ง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สรุปว่า การอบรมช่วยเหลือครูประจําการโดยใช้วิธีที่มีครูพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ช่วยแนะนํา ให้ข้อมูลย้อนกลับ เป็นวิธีการที่ได้ผลโรงเรียนแนวใหม่ เช่น Match และ North Star ก็จะมีสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแบบเดียวกับโรงเรียนที่เซี่ยงไฮ้และสิงคโปร์ที่มีครูพี่เลี้ยง ช่วยเหลือแนะนําครูประจําการ ที่เซี่ยงไฮ้นั้น ถึงกับมีผลว่า ถ้าครูประจําการหรือนักศึกษาฝึกสอนสอนไม่ดีขึ้น ครูพี่เลี้ยง (Mentor) จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน (แต่ครูที่เซี่ยงไฮ้ สอนเพียงสัปดาห์ละ 10-12 ชั่วโมง ขณะที่ครูอเมริกัน สอนสัปดาห์ละ 27 ชั่วโมง)
 
หลายประเทศมีวิธีปฎิบัติที่เป็นปัญหา คือ การเลื่อนวิทยฐานะ ครูที่สอนดีๆก็จะได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหารซึ่งผู้บริหารจะได้รับเงินค่าตอบแทนสูงกว่าครู ทั้งๆที่ผู้บริหารมิได้ช่วยทําให้เด็กนักเรียนเก่งขึ้น ดีขึ้น ที่สิงคโปร์จะแยกสายบริหารและสายการสอน เพื่อให้ครูดีๆได้สอนตลอดไป ประเทศออสเตรเลียก็กําลังจะทําเช่นนี้


 
สําหรับการฝึกหัดครูแนวใหม่แบบสถาบัน Relay และ Sposato ในอเมริกา และ Ark ในอังกฤษ ปรากฎว่าบัณฑิตจากสถาบันฝึกหัดครูแนวใหม่นี้ สามารถสอนนักเรียนได้ผลดีขึ้น ในปีการศึกษาหน้า (2017) สถาบัน Relay จะตั้งเพิ่มอีก 12 แห่ง ฝึกครู 2,000 คน และผู้บริหาร (ครูใหญ่) 400 คน คณะปฎิรูปทางการศึกษา (อเมริกา) เห็นว่า ระบบการศึกษาที่ดีและได้ผลจะต้องส่งผลตรงถึงตัวนักเรียน และผู้ที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในตัวนักเรียน คือ ครู การสอน การคิด พฤติกรรมของครูในการสอนในห้องเรียนจึงเป็นเรื่องสําคัญ การปฎิรูปการศึกษา คือ การปฎิรูปการสอนของครูในห้องเรียน มิใช่การปรับระบบโครงสร้างการศึกษา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Education
  • 0 Followers
  • Follow