Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาร์เอสวี (RSV) ไวรัสร้ายในเด็กเล็ก

Posted By Plook Parenting | 13 ก.ย. 59
6,798 Views

  Favorite

ในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เด็กเล็กมักจะมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันน้อย โดยโรคที่พบบ่อยก็คือโรคหวัด แต่ยังมีไวรัสตัวสำคัญที่เป็นอันตรายมากหากเด็กได้รับเชื้อเข้าไป นั่นก็คือ Respiratory Syncytial virus หรือ RSV 

เชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก พบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน ไวรัส RSV ติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูกและทางลมหายใจ ดังนั้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นหวัดจึงเสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้มาก เด็กเล็กสามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว โดยเชื้อไวรัส RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 วัน  และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการคือ

• ทางเดินหายใจส่วนต้นอักเสบ ทำให้มีอาการคล้ายหวัด มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คออักเสบ

• ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งมักเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี 

• บางรายมีอาการรุนแรง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัส RSV ตั้งแต่ 40 –90 % รวมไปถึงปอดบวม

 

ทารกร้องไห้
ภาพจาก Pixabay

 

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือให้ดี และสังเกตอาการของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาการเบื้องต้นจะคล้ายกับหวัดธรรมดา แต่ก็มีส่วนที่พอจะสังเกตได้ คือ เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV มีอาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึมลง ตัวเขียว กินข้าว กินน้ำ กินนมไม่ได้

"ณ ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกัน หรือยารักษาไวรัส RSV โดยเฉพาะ"

ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ โดยสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือการขาดน้ำเพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้นและเชื้อลงปอด อาจต้องใช้ยาพ่นร่วมกับ oxygen เพื่อช่วยขยายหลอดลม รับประทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4 – 6  ชั่วโมง พร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนเยอะ ๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใช้เวลาประมาณ 7 – 14 วัน จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้ว หลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ซึ่งจะกระตุ้นอาการหอบจนทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและสุขภาพของลูก โดยเน้นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้

 

ภาพ : กรมควบคุมโรค

 

วิธีการป้องกัน

1.ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือก่อนกินอาหารทุกครั้ง นอกจากป้องกันเชื้อโรคแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักความสะอาด  

2.ช่วงหน้าฝนควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลและระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ

3.ทำความสะอาดของเล่นลูกเสมอ

4.คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

5.เมื่อลูกต้องอยู่ในอากาศที่หนาวเย็นอย่างในห้องแอร์ ควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ด้วยการใส่หมวก ใส่ถุงเท้า หรือห่มผ้า

6.หากมีเด็กอยู่รวมกันหลายคน ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

 

ภาพจาก Pixabay

 

นอกจากนี้การให้ลูกได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ดีที่สุด เพราะมีผลการวิจัยมากมายที่ระบุว่าเด็กที่ได้กินนมแม่จนถึง 6 เดือน จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีและมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow