Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กขี้โมโห ชอบร้องอาละวาด ... จะแก้ไขอย่างไร

Posted By Plook Parenting | 05 ก.ย. 59
7,080 Views

  Favorite

ในความเป็นจริงนั้น อารมณ์โกรธ อารมณ์ฉุนเฉียว เป็นสิ่งที่มนุษย์เราทุกคนมีอยู่ในตัวเองตามธรรมชาติ แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถควบคุมมันได้มากน้อยแค่ไหน เด็กวัยนี้ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาการควบคุมตัวเองทั้งทางร่างกายและอารมณ์ จึงยังไม่มีวิธีจัดการกับอารมณ์ได้ดีพอ เมื่อต้องพบเจอกับความเครียดหรือความไม่ได้ดั่งใจ เมื่อถูกขัดขวางอิสรภาพในการกระทำสิ่งที่ต้องการ การร้องอาละวาด เกิดจากการขาดทักษะในการสื่อสารของเด็ก รวมถึงตัวเด็กเองยังไม่เคยเรียนรู้การแสดงออกซึ่งอารมณ์โกรธในลักษณะอื่น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงดูที่จะฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์โกรธของตนให้ได้

วิธีการ

1.ก่อนอื่นช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์ก่อน ด้วยการกอดปลอบประโลม การสัมผัสจะช่วยคลายอารมณ์ที่กำลังไม่มั่นคงและอยู่เหนือการควบคุมของลูกให้สงบลงได้ และเมื่อเด็กมีอารมณ์สงบลงแล้ว ค่อยคุยให้เข้าใจว่าเรารับรู้อารมณ์โกรธของเด็กและหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้งหน้า เราต้องการให้เด็กทำอะไรเพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนควรทำ เด็กมักจะรู้สึกเปราะบาง หรือขาดความมั่นใจหลังจากร้องอาละวาด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปลอบโยนและย้ำให้ลูกรับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกที่ไม่ได้ลดลงเลยแม้เขาจะอาละวาดก็ตาม

 

หอมแก้ม
ภาพจาก Pixabay

 

2.เบนความสนใจ หรือหาสิ่งทดแทน เพื่อระงับความขัดข้องใจของลูก เช่น การเริ่มกิจกรรมใหม่ที่น่าสนใจแทนกิจกรรมที่พ่อแม่ไม่อนุญาต หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนบรรยากาศง่าย ๆ เช่น พาลูกย้ายไปยังอีกห้องหนึ่งของบ้าน พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน หรือพาลูกออกไปจากสิ่งที่ต้องการก่อน 

 

เด็กกับตุ๊กตาหมี
ภาพจาก Pixabay

                                                                                   

3.อย่ายอมแพ้ต่อการร้องอาละวาดโดยเด็ดขาด การยอมแพ้ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ของที่ลูกชอบ เพียงเพื่อให้เด็กหยุดอาละวาดนั้น อาจทำให้เด็กเชื่อว่าสิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้นมีความเหมาะสม ครั้งหน้าเด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่าร้องอาละวาดแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการ ในทางกลับกันพ่อแม่ควรจะชมเชยลูกในกรณีที่ลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองได้

 

ร้องไห้
ภาพจาก Pixabay

 

4.รับฟังลูกเสมอ เวลาโกรธ ใคร ๆ ก็อยากจะระบายออกมาว่าไม่พอใจอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรจะฟังลูก ควรส่งเสริมให้เขาแสดงออกด้วยคำพูด ระบายความรู้สึกในใจว่าเขารู้สึกอย่างไร เพื่อฝึกให้จัดการกับอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสม

 

ตะโกน
ภาพจาก Pixabay

 

5.ตอบรับคำขอของลูกพร้อมคำอธิบาย หากการร้องขอของลูกเป็นไปอย่างเหมาะสม พ่อแม่ก็ควรตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกเรียกร้อง แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสม พ่อแม่ก็ควรปฏิเสธไปตามจริง พร้อมกับอธิบายด้วยหลักเหตุผลให้ลูกเข้าใจ ไม่ควรใช้คำว่า “ไม่ได้ก็คือไม่ได้” เพราะลูกจะไม่เกิดการเรียนรู้ว่าไม่ได้เพราะอะไร

 

แม่ลูก
ภาพจาก Pixabay

 

6.รู้ข้อจำกัดของลูก พ่อแม่ควรรับรู้และเข้าใจสภาพร่างกายและจิตใจของลูกในแต่ละสถานการณ์ เช่น รู้ว่าลูกเหนื่อย หิว ง่วง หรือเจ็บป่วย ก็ควรให้ลูกได้พัก ไม่ควรพาออกไปซื้อของ พาไปทำธุระ หรือพาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ

 

เด็กกับลูกโป่ง
ภาพจาก Pixabay

 

7.จัดการให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับอย่างเพียงพอในเวลากลางคืน สามารถลดปัญหาการร้องอาละวาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการได้นอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมย่อมส่งผลให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ 

 

เด็กนอนหลับ
ภาพจาก Pixabay

 

8.ระบายอารมณ์ด้วยศิลปะ ลองหาสีและกระดาษให้เด็กได้วาดรูป หรือเขียนอะไรก็ได้ตามใจ บอกเขาว่า “หนูโกรธอะไร หงุดหงิดเรื่องอะไร หรือว่าอยากได้อะไรลองวาดเป็นรูปให้คุณแม่ดูหน่อยสิ ให้แม่ได้รู้ว่าหนูอยากได้อะไร” เสร็จแล้วก็เอารูปวาดนั้นมานั่งคุยกับลูก ว่าอันนี้คืออะไร ที่หนูวาดอย่างนี้ต้องการอะไร การได้ระบายโดยการวาดออกมาและมีคนมาสนใจถามไถ่ เป็นการบำบัดอารมณ์อย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาชอบใช้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำมาใช้ กับการแก้ไขอารมณ์ร้ายของลูกได้

 

เด็กวาดรูป
ภาพจาก Pixabay

 

ถ้าทำทุกอย่างแล้วลูกก็ยังไม่หยุดอาละวาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะนิ่งสักพัก ปล่อยให้อารมณ์ของลูกลดลงเอง แต่อย่าไปแสดงความโกรธ หรืออาละวาดกลับ เพราะยิ่งเหมือนเอาน้ำมันราดลงไปบนกองไฟ และลูกก็จะยิ่งซึมซับพฤติกรรมที่ไม่ดีเข้าไปอีกด้วย

 

เรียบเรียง : jutatipkarn

ภาพปก : Pixabay

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow