รู้รอบโลก ตอน Music Therapy
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.1K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา และกัลยาณี แนวเล็ก ภาพประกอบ: พัชรพงษ์ อุทธิสินธ์ และอารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ
 

Music Therapy 
 

Music TherapyLudwig van Beethoven เคยกล่าวไว้ว่า "ดนตรีเป็นสื่อกลางกระตุ้นความรู้สึกระหว่างจิตวิญญาณและชีวิต" ถ้าดนตรีมีอิทธิพลต่อชีวิตและจิตใจ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นอกจากเราจะร้อง จะฟังเพลงหรือเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลาย ดนตรียังมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการบำบัดจิตใจ

ในทางการแพทย์แล้ว การริเริ่มใช้ดนตรีหรือเพลงเพื่อบำบัดให้ได้ประโยชน์ทางการแพทย์เริ่มต้นราวๆช่วงปี 1940 เป็นต้นมา การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การใช้ดนตรีบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการในวัยเด็ก และการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อรักษาหรือบำบัดอาการผู้ป่วยสูงวัย ผู้ป่วยทางจิต และผู้ป่วยออทิสติก เรียกได้ว่าการรักษาทางการแพทย์จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการใช้ยา หรือสารเคมี นำส่งเข้าร่างกายอีกต่อไป คลื่นเสียง เสียงเพลง ที่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอ การบอกเล่าเรื่องราว สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ผู้ฟังให้คล้อยตาม หรือส่งผลต่อร่างกายของผู้ที่ได้รับฟังได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
 

ศาสตร์ของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดคือการใช้ดนตรีในการรักษา จากหลักฐานของงานวิจัยที่เคยทำมาก่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง โดยดนตรีสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภายนอกที่สามารถจับต้องได้ นอกเหนือจากความสุนทรีย์หรืออารมณ์ที่วัดได้ยาก อย่างเช่น การเปลี่ยนไปของอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ ความดัน คลื่นสมอง การตอบสนองของม่านตา ความหดตึงเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่ระบบไหลเวียนโลหิต การใช้ดนตรีมารักษาความเจ็บป่วยเริ่มมานานตั้งแต่ยุคกรีก ซึ่งเชื่อว่า อพอลโลเทพแห่งดนตรี สามารถช่วยรักษาความเจ็บป่วย ขับไล่ผีร้ายได้โดยใช้เสียงเพลง
 

ฮอร์โมนความสุข
การเล่นดนตรี นอกจากเป็นการฝึกฝนพัฒนาการใช้งานหลาย ๆ ทักษะของตัวผู้เล่นเองแล้ว ผู้เล่นยังได้ฟังเสียงเพลงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เล่นด้วย สารโดพามีนถูกหลั่งออกมาในขณะที่เล่นและฟังเพลง สารนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฮอร์โมนความสุข ปล่อยออกมาจากเนื้อเยื่อประสาทและต่อมหมวกไตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่ม แรงดันโลหิตเพิ่ม รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น และยังตื่นรู้ต่อสิ่งที่มากระตุ้นระบบประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ด้วย ยิ่งมีการหลั่งสารนี้มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งมีความพึงพอใจหรือมีความสุขมากขึ้น แปลได้ง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหน แต่ถ้ามันถูกจริตของคุณ ไม่ว่าจะเล่นหรือฟังคุณก็จะมีความสุข
 

อิทธิพลของเสียงเพลง
ในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่มีการใช้เสียงเพลงเพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2532กำแพงเมืองเบอร์ลินล่มสลาย ผู้นำทางการเมืองพากันร้องเพลงชาติอย่างกล้าหาญ นักค้นคว้าชาวอังกฤษ Ian Cross จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวเสริมว่า "การมีเพลงเปรียบเสมือนมีสนามที่เล่นในจิตใต้สำนึก เพราะหัวใจของดนตรีนั้น ให้อิสระในการไปตีความ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ไปตามความนึกคิด และฝึกด้านจินตนาการ นั่นคือเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการจะพัฒนาสมอง"

ดนตรีถือได้ว่าเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสาร แสดงความรู้สึกจากผู้ให้ถึงผู้รับ สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกในด้านบวก ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และยังมีประโยชน์อีกมากมายตามเป้าหมายในแต่ละวัยขึ้นอยู่กับการนำไปใช้นั่นเอง
 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.musictherapy.org/about/history/
https://www.berklee.edu/music-therapy
https://steinhardt.nyu.edu/music/therapy
https://www.la-orutis.dusit.ac.th/research4.php

 

 


นิตยสาร plook