Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็ก

Posted By Plook Teacher | 10 ก.ย. 62
7,468 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

           ภาวะความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เป็นอาการตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือปัจจัยอันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจในด้านลบ สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตล้วนมีความเครียดเป็นส่วนหนึ่งในแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิต หรือทำสิ่งต่าง ๆ ท่ามกลางความกดดัน ข้อจำกัดและอุปสรรคนานาประการ ความเครียดจะคอยกระตุ้นเราให้พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ แจ่ในเดียวกันถ้ามีความเครียดมากจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของตัวเราเองได้เช่นเดียวกัน

 

           ความเครียดเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย นั่นคือ ปัจจัยภายนอก คือ การที่สิ่งเร้าภายนอกมีผลทำให้เราเกิดความเครียด เช่น ภาระงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน และ ปัจจัยภายใน  คือความรู้สึกภายในร่างกายมีผลต่อความเครียด เช่น การเป็นคนวิตกกังวล ชอบคิดมาก มีภาวะความแปรปรวนทางอารมณ์ ซึ่งความสามารถในการรองรับของแต่ละคน ดังนั้นระดับความเครียดของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ในเรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจยังไม่รู้สึกถึงความเครียด แต่สำหรับบางคนเป็นเรื่องที่เครียดมากก็ได้

 

สำหรับความเครียดของนักเรียนนั้น สามารถแบ่งตามอาการได้ 3 ระดับ คือ

           ระดับที่ 1 คือมีความเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบกับผลการเรียน และความสัมพันธ์กับบุคคลคนรอบข้าง

           ระดับที่ 2 มีรุนแรงมากขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เริ่มที่จะแยกตัวของจากกลุ่ม

           ระดับที่ 3 เป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบกับตัวนักเรียนเป็นอย่างมาก นักเรียนจะไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตกต่ำ มีภาวะซึมเศร้า เหม่อลอย ไม่มีพละกำลัง ระบบประสาททำงานผิดปกติ สมองทำงานช้าลง หนักที่สุดอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

 

ภาพ : shutterstock.com

 

ภาวะความเครียดของเด็กนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละช่วงวัยนั้นล้วนมีภาวะความเครียดที่แตกต่างกัน ซึ่งสาเหตุโดยรวมที่อาจทำให้นักเรียนมีความเครียดได้นั้น มีดังนี้

           - ปัญหาสภาพครอบครัวที่ล้มเหลว พ่อแม่หย่าร้าง เด็กรู้สึกขาดที่พึ่ง ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

           - รู้สึกแบกรับความคาดหวังของผู้ปกครอง ทำให้เกิดความกดดันในการเรียน ผลการเรียนรู้ไม่อยู่ในระดับที่ตั้งใจ หรือแย่ลงกว่าเดิม

           - มีปัญหาด้านการเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง  เรืยนไม่ทันเพื่อน  อยู่ในระดับชั้นเรียนที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง

           - ทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้าง ทะเลาะกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ทะเลาะกับเพื่อน และไม่รู้ว่าจะคืนดีได้อย่างไร

           - มีการทำเรื่องที่ผิดพลาดแล้วปกปิดไว้ ไม่กล้าบอกบุคคลใกล้ชิดเพราะกลัวการถูกลงโทษหรือทำให้ครอบครัวผิดหวัง

           - ภาวะความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ความสับสนทางเพศ และความไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง

 

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาความเครียดของนักเรียนอย่างเหมาะสมนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้

สอดส่องดูแล

           คุณครูควรเริ่มต้นจากการสอดส่องดูแลนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงเช่น นักเรียนที่แยกตัวจากเพื่อนหรือปฏิบัติตัวแตกต่างกว่าปกติที่เคยทำ ซึ่งควรจับตาดูนักเรียนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

สอบถามกับนักเรียน

           คุณครูควรใช้เวลาว่างในพูดคุยถามไถ่นักเรียนที่กำลังมีปัญหาอย่างเป็นมิตรและในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย พยายามสร้างความไว้วางใจให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเขาสามารถเล่าเรื่องราวต่างๆกับคุณครูได้อย่างสบายใจ เพื่อให้เราทราบถึงสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความเครียดของนักเรียน

พูดคุยกับผู้ปกครอง

           พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนคือผู้ที่เข้าใจตัวนักเรียนได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นสาเหตุอันดับต้นๆที่ทำให้นักเรียนมีภาวะเครียดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคุณครูควรมีเวลาในการพูดคุยกับผู้ปกครองถึงปัญหาพฤติกรรมและผลการเรียนของนักเรียน เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา ผู้ปกครองบางท่านอาจคาดหวังกับนักเรียนและกดดันนักเรียนมากจนเกินไป ซึ่งคุณครูควรแนะนำแนวทางที่เหมาะสมให้กับพวกเขา เพื่อช่วยให้ภาวะความเครียดของนักเรียนลดลง

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

           ภาวะความเครียดมีหลายปัจจัย บางครั้งนักเรียนก็มีภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นเองจากภายใน ซึ่งการเยียวยาแก้ไขให้เหมาะสมนั้น จำเป็นต้องปรึกษษผู้เชี่ยวชาญ เช่น ครูแนะแนวของโรงเรียนหรือจิตแพทย์ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อจะได้หาแนวทางเยียวยาที่ดีที่สุด

ไม่ควรตำหนิในความผิดพลาด

           นักเรียนที่มีภาวะความเครียดนั้น หลายๆครั้งอาจเกิดจากความผิดพลาดแล้วตัวเองปกปิดไว้ เมื่อได้พูดคุยและทราบเรื่องแล้ว คุณครูไม่ควรที่จะตำหนิในพฤติกรรมที่ผิดพลาดเหล่านั้น เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้นักเรียนดีขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้นักเรียนรู้สึกเครียดมากขึ้นจนอาจจะส่งผลต่อตัวนักเรียนได้ ทางที่ดี คุณครูควรรับฟังและพูดคุยถึงผลที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดนั้นและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขอย่างเหมาะสม ซึ่งการรับฟังของครูนั้นจะช่วยลดภาวะความเครียดของนักเรียนในเรื่องความผิดพลาดนี้ลงไปได้มาก

จัดการเรียนรู้โดยตอบสนองผู้เรียน

           บางครั้งระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนที่ไม่ได้พิจารณาจากนักเรียน อาจสร้างความเครียดให้เกิดกับนักเรียนได้ ดังนั้นจึงความพิจารณาความสามารถของนักเรียนควบคู่กับจุดมุ่งหมายการเรียนรู้เพื่อออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือให้นักเรียนได้เริ่มเรียนในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น และลดภาวะความเครียดลงมาในระดับที่พวกเขาสามารถควบคุมได้

สร้างห้องเรียนที่มีความสุข

           แม้ว่าความเครียดจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย แต่การสร้างห้องเรียนที่มีแต่ความเครียดและความกดดันนั้น อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ห้องเรียนที่มีการควบคุมมากจนเกินไปหรือห้องเรียนที่มีการแข่งขันกันสูง ล้วนสร้างให้นักเรียนมีภาวะความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกินกว่าระดับที่ตัวนักเรียนจะรับไว้ ดังนั้นควรสร้างห้องเรียนที่เป็นกันเอง ผ่อนคลาย และส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันเรียนรู้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

 

           จะสังเกตได้ว่าภาวะความเครียดของนักเรียนนั้น มีโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะการจัดการความเครียดของเด็กหรือวัยรุ่นนั้น ยังเทียบไม่ได้กับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของสมองในแต่ละช่วงวัย จึงไม่แปลกอะไร ถ้าเราจะพบว่าบางครั้งสาเหตุความเครียดของนักเรียนนั้น อาจเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเรารู้สึกว่ามันไร้สาระก็ได้ แต่อย่างไรสำหรับเด็กๆแล้ว มันอาจเทียบได้กับทั้งโลกของเขาเลยทีเดียว

 

           ดังนั้นเมื่อพบเจอว่านักเรียนในความดูแลของเรามีความเครียด จงอย่าเพิกเฉยนะครับ พยายามช่วยเขาเถอะ อย่างปล่อยให้เขาเผชิญความเครียดตามลำพังเลย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเด็กทำอะไรบ้า ๆ อย่างการฆ่าตัวตาย เพราะหนีปัญหาความเครียดหรอกจริงไหมครับ

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stress

https://www.nicetofit.com/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/

https://www.thaihealth.or.th/Content/6278-E0B89EE0B89A2022E0B980E0B894E0B987E0B8812220E0B980E0B884E0B8A3E0B8B5E0B8A2E0B894E0B8A1E0B8B2E0B881E0B896E0B8B6E0B88720302020E0B888E0B8B4E0B895E0B981E0B89EE0B897E0B8A2E0B98CE0B981E0B899E0B8B020420E0B8A7E0B8B4E0B898E0B8B5E0B89BE0B989E0B8ADE0B887E0B881E0B8B1E0B899html

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow