Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

PhenoBL ความท้าทายทางการศึกษาของฟินแลนด์

Posted By Plook Teacher | 27 ส.ค. 62
10,395 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

           Phenomenon-Based Learning (PBL) หรือ PhenoBL เป็นแนวการจัดการเรียนรู้โดยนำหัวข้อหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีจุดเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและชุมชนของผู้เรียน  มาเป็นหน่วยการเรียนรู้ในลักษณะของโครงงาน ที่เน้นให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มโดยเปลี่ยนกระบวนทัศน์การมองครูจากการมองเป็นผู้เชี่ยวชาญมาเป็นมองครูเป็นหนึ่งในกระบวนการ และให้บทบาทนักเรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีเนื้อหาบูรณาการรวมกันครอบคลุมหลายวิชา ซึ่งแตกต่างกับแนวการจัดการเรียนรู้โดยทั่วไปที่จะแยกเรียนในวิชาต่างๆอย่างเป็นเอกเทศ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นความท้าทายครั้งใหม่ในการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เพราะนับเป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนของเด็กฟินแลนด์ขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21

 

           PhenoBL ได้ผ่านการทดลองและการพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จนกระทั่งถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ของฟินแลนด์ในปี ค.ศ. 2014 โดยได้นำเสนอโมดูลการเรียนรู้แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary Learning modules: MLs) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะข้ามพิสัย (Transversal Competencies) ของผู้เรียน ซึ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ให้อยู่ในรูปแบบของคาบเรียนที่เน้นการบูรณาแต่ละวิชาผ่านการทำโครงงาน โดยนักเรียนจะได้ศึกษาปรากฏการณ์ตามสภาพจริง (Authentic Phenomena) แบบองค์รวม ได้ทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ในชีวิตจริง โดยไม่แยกย่อยว่าเป็นวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ที่กว้างขวาง มีแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ และได้สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตัวผู้เรียนเองมากขึ้น 

 

ภาพ : shutterstock.com

 

การเรียนรู้แบบ Phenomenon-Based Learning (PBL) หรือ PhenoBL นั้น มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะ

           1. เป็นการศึกษาเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆในสภาพความเป็นจริงแบบองค์รวม (Holistic) โดยใช้ความรู้ข้ามศาสตร์และนำสาระวิชาต่างๆ มาบูรณาการเข้ากับประเด็นเรื่อง (theme) อย่างเป็นธรรมชาติ

           2. เป็นการเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามหรือนำเสนอปัญหา (เช่น เหตุใดเครื่องบินจึงสามารถบินและลอยอยู่ในอากาศได้) ซึ่งวิธีการการเรียนแบบ PhenoBL นั้น สอดคล้องกับการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-BasedLearning) เพราะผู้เรียนได้ร่วมกันหาคำตอบสำหรับปรากฏการณ์ที่เขาสนใจ และปัญหากรือคำถามที่ผู้เรียนได้คิดร่วมกันนั้น คือสิ่งที่พวกเขาสนใจอย่างแท้จริง

           3. เป็นการเรียนรู้แบบหยั่งลึก(Anchore) สู่ปรากฏการณ์ในชีวิตจริง โดยการประยุกต์ใช้ข้อมูลความรู้และทักษะข้ามสาระวิชาให้เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน

           4. ในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ข้อมูลใหม่มักจะถูกนำไปประยุกต์เข้ากับปรากฏการณ์หรือใช้แก้ปัญหานั้นๆ หมายความว่า ทฤษฎีและข้อมูลความรู้ต่างๆ จะเป็นคุณประโยชน์ต่อสถานการณ์การเรียนรู้ดังกล่าว การฝึกประยุกต์ใช้ข้อมูลในสถานการณ์มีความสำคัญมากที่จะช่วยให้นักเรียนได้ซึมซับข้อมูลความรู้ใหม่และเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง

           5. PhenoBL ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงมากขึ้นเพราะผู้เรียนจะได้ใช้กระบวนการทางปัญญา (Cognitive Processes) หรือกระบวนการคิด (Thinking Processes) อย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง (authenticity) ซึ่งสถานการณ์จริงนี้เป็นเงื่อนไขหลักสำคัญ สำหรับการถ่ายโอนและนำข้อมูลความรู้ไปประยุกต์ใช้

 

           Susanna Tammela-Eltvik (ซูซันนา ตัมเมลา เอลท์วีก) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ได้อธิบายถึงแนวการจัดการเรียนรู้แบบ Phenomenon Based Learning ซี่งเป็นแนวการศึกษาใหม่ที่กำลังผลักดันอยู่ในประเทศฟินแลนด์ว่า การเรียนแบบนี้ไม่ใช่การเรียนที่ละทิ้ง ‘ประเภทวิชา’ ไปทั้งหมด เพียงแต่ว่าการเรียนด้วยวิธีนี้จะให้เด็กนักเรียนในห้องตกลงกันก่อนว่า พวกเขาอยากจะเรียนรู้หัวข้ออะไร เช่น ถ้าเด็กนักเรียนอยากจะเรียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อตกลงกับอาจารย์ผู้สอนได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะอาจารย์ที่จะต้องไปดีไซน์แผนการสอนให้เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักนี้ เช่น อาจารย์สามารถเอาสถิติต่างๆ ในช่วงสงครามโลก มาประยุกต์สอนควบกับวิชาคณิตศาสตร์ สามารถสอนวิชาสังคมศาสตร์ด้วยการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง สอนวิชาดนตรี หรือ ศิลปะ ด้วยการดูงานศิลป์ของยุคนั้น เป็นต้น 

 

           จากคำอธิบายนี้จะเห็นได้ว่า การศึกษาในรูปแบบนี้ ไม่ได้เป็นการทิ้ง ‘วิชา’ ไปจากการเรียนโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักเรียน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้เด็กนักเรียนก็ต้องผ่านการเรียนพื้นฐานในชั้นเรียนก่อน และด้วยระบบก็จะสอนให้เด็กค่อยๆ เข้าใจว่าเขาอยากเรียนอะไร และอยากจะเรียนวิธีไหน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

           แม้ว่ารูปแบบการศึกษานี้จะมีการบ่มเพาะพัฒนามายาวนานก่อนที่จะประกาศใช้ในประเทศฟินแลนด์ แต่ก็มีหลายส่วนที่ยังเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับนักการศึกษา จนทำให้เกิดแนวคิดสองด้านระหว่างผู้เห็นด้วยที่มองว่า การศึกษาฟินแลนด์ที่สามารถุประสบความสำเร็จในช่วงก่อนหน้านี้ นั่นเป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการศึกษาแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน และผลการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ที่ตกลงจากการใช้แนวการเรียนแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่ากับการพัฒนาเด็กให้ตอบสนองต่อการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 กับผู้ไม่เห็นด้วยที่มองว่าแนวการเรียนรู้แบบนี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพราะผู้ปกครองที่มีฐานะจะสามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆได้มากกว่าผู้ปกครองที่ยากจน และการเพิ่มศิลปะและดนตรี จะทำให้เด็กได้เรียนรู้วิชาหลักน้อยลง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิม 

 

           จากความขัดแย้งทางความคิดเช่นนี้ทำให้การเรียนรู้แบบ Phenomenon-Based Learning หรือ PhenoBL ในประเทศฟินแลนด์นั้น เป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งเราก็ต้องดูกันต่อไปว่าในท้ายที่สุดแล้วโฉมหน้าทางการศึกษาของประเทศฟินแลนด์จะยังคงเป็นต้นตำรับแห่งการพัฒนาด้านการศึกษาต่อไป หรือกลับกลายเป็นอีกประเทศที่การศึกษาแย่ลงไปเพราะการปฏิรูป

 

เอกสารอ้างอิง

https://library.ipst.ac.th/bitstream/handle/ipst/6110/209_40-45.pdf?sequence=1&isAllowed=y

https://thematter.co/pulse/a-little-bit-more-about-finland-education/20261

https://www.bbc.com/thai/international-40093564

https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/9953

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow