Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"ชิตัง เม" แปลว่า อะไร ? ความหมายแท้จริงตามพระไตรปิฏก คืออะไร ?

Posted By มหัทธโน | 10 มี.ค. 60
56,053 Views

  Favorite

"ชิตังเม" แปลว่า เราชนะแล้ว ... ชนะอะไร?

"ชิตัง เม โป้ง รวย" ข่าวดังขณะนี้เป็นคำติดปากของศิษยานุศิษย์วัดแห่งหนึ่ง จนคนส่วนใหญ่สงสัยว่า "ชิตัง เม" แปลว่าอะไร
มารู้จักคำนี้กันค่ะ ว่า มีความหมายที่ถูกต้อง แท้จริงตามพระไตรปิฏกว่าอะไร 

 

ความหมายของ ชิตัง เม คำแต่สมัยพุทธกาล

สำหรับคำว่า ชิตัง เม นั้น เป็นคำที่มีอยู่จริงและใช้กันดาษดื่นในสมัยพุทธกาล

ในทางพุทธศาสนา คำว่า ชิตัง เม หมายถึง การเอาชนะกิเลสในใจตัวเอง 

 

ชิตัง เม ใน "กุททาลชาดก"

คำนี้ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก เรื่อง กุททาลชาดก ก็เป็นเครื่องสาธกในข้อนี้ได้ดี ความย่อมีอยู่ว่า

 

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยชาติ เป็นกุททาลบัณฑิต มีอาชีพทำไร่ ทำสวน ปลูกผักผลไม้ แกมีจอบบิ่น ๆ อยู่ด้ามหนึ่ง เป็นสมบัติมีค่าของตระกูล วันหนึ่งนึกอยากสละเรือนออกบวชเป็นฤาษี จึงเอาจอบไปซ่อนแล้วออกบวช แต่เมื่อบวชไปสักพักหนึ่งก็กระสัน นึกถึงเครื่องมือทำมาหากินของตัวเอง ก็เลยสึก พอสึกไปก็เบื่อหน่ายอีกจึงกลับมาบวช

 

ที่มา : กุททาลชาดก มานพบวชเพราะอาหาร7ครั้ง ว่าด้วย ความชนะที่ดี : ชาดก 500 ชาติ
สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=g1jJ0ZK7MOE
 



บวช ๆ สึก ๆ อย่างนี้อยู่ถึง 6 ครั้ง จนครั้งที่ 7 เกิดความสลดสังเวชใจ อนาถใจในตัวเองว่า อาศัยสมบัติคือจอบบิ่น ๆ ด้ามเดียว ก็ตัดขาดจากความอยากครองเรือนไม่ได้ ก็เลยคิดหาอุบายจะทำลายจอบซึ่งเป็นต้นตอแห่งตัณหานี้ทิ้ง

มาครั้งสุดท้ายนี้จึงตัดสินใจนำจอบไปที่แม่น้ำใหญ่ หันหลังแล้วเหวี่ยงจอบลงแม่น้ำอย่างสุดแรง เพื่อไม่ให้หามันเจออีก

เมื่อหันหน้ากลับมามองหาจอบที่เหวี่ยงทิ้งแล้ว ไม่เห็นร่องรอย แกก็เกิดปีติปราโมทย์ ที่สามารถเอาชนะกิเลสของตัวเอง จึงตะโกนเสียงอย่างดังว่า ชิตัง เม ชิตัง (เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว) นี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า ชิตัง เม

 

ชิตัง เมในพระไตรปิฏก เรื่องของพราหมณ์จูเฬกสาฎก

คำนี้ปรากฎในพระไตรปิฏก เมื่อพราหมณ์จูเฬกสาฎกที่พยายามสู้กับความตระหนี่ของตัวเองจนถึงสว่าง เพื่อจะถวายผ้าห่มที่มีแค่ผืนเดียวให้กับพระพุทธเจ้า จนสุดท้ายก็สามารถเอาชนะความตระหนี่ของตัวเองได้จริง จึงตะโกนคำว่า ชิตัง เม เรื่องราวมีอยู่ว่า 


ณ เมืองสาวัตถีมีพราหมณ์สองสามีภรรยาชื่อว่า จูเฬกสาฎก สองสามีภรรยายากจนมากเพียงมีผ้าห่มแค่ผืนเดียวต้องผลัดกันใช้ (พราหมณ์ไปไหนต้องห่มผ้า คือ มีผ้านุ่ง และมีผ้าห่ม) วันหนึ่งจูเฬกสาฎกพราหมณ์ ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ด้วยความที่อยากฟังชัด ๆ เลยไปนั่งด้านหน้าพระพุทธองค์

 

ที่มา : Boonsom Aranyig
สืบค้นจาก https://lh3.googleusercontent.com/-0gq1v0p4raw/U1tvC4GYQrI/AAAAAAAA6lM/syULRPapGp4/w530-h657-p-rw/20.jpg

 

พระพุทธเจ้าจึงเทศน์เรื่องทานบารมี เพื่อสงเคราะห์แด่พราหมณ์ โดยทรงอธิบายอานิสงส์ของทานว่า ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความรัก ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ เป็นต้น จูเฬกสาฎกพราหมณ์ฟังไป ๆ ก็ซาบซึ้งในรสพระธรรม คิดขึ้นมาว่าอย่ากระนั้นเลย เอาผ้าห่มที่เรามีอยู่ผืนเดียวนี้ถวายพระพุทธเจ้าเสียดีกว่า
 

 

เมื่อคิดเช่นนั้น อกุศล ตัวความตระหนี่ มัจฉริยะก็ขึ้นมาแทรกในจิตทันทีว่า ให้ไปแล้วเราจะเอาอะไรห่มเล่า ยิ่งร้ายไปกว่านั้นภรรยาที่อยู่บ้านจะเอาอะไรห่มอย่าเพิ่งให้เลย ว่าแล้วก็ฟังธรรมต่อฟังไปจนถึงตอนกลางก็คิดขึ้นมาอีกว่า ถวายไปเถอะแล้วค่อยหาเอาใหม่ แต่ก็คิดขึ้นมาอีกว่า ถ้าให้ไปแล้วภรรยาเราอยู่ที่บ้านก็จะไม่มีอะไรห่มมาฟังธรรมอันไพเราะนี้เลย ตัวตระหนี่มัจฉริยะความหวงแหนมันขึ้นมาทำให้ตัดใจไม่ลง
 

นั่งฟังไปจนใกล้จะจบก็คิดว่า ให้ก็ให้เถอะน่าไม่ให้วันนี้ก็ไม่รู้จะมีโอกาสอีกเมื่อไร ว่าแล้วจึงดึงผ้าออกมาพับเสร็จก็นำผ้าไปถวายที่พระบาทของพระพุทธเจ้า อุทานว่า “ชิตังเม ชิตังเม” ในที่ประชุมนั้น 
 

ความหมายคือ ชิตัง เม  เราชนะแล้ว

คือ พราหมณ์สามารถชนะจิตของตนได้จึงสละผ้าถวายโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ เพราะตั้งใจสละกิเลส
แต่กลับกลายเป็นว่าพราหมณ์ได้สิ่งต่าง ๆ มากมายโดยไม่คาดฝัน

 

พระเจ้าปเสนทิโกศลบังเอิญประทับนั่งสดับพระธรรมอยู่ด้วยเมื่อทรงทราบเนื้อความตามที่ราชบุรุษมารายงาน จึงพระราชทานผ้าสาฏกใหม่ให้พราหมณ์ 2 คู่ แต่พราหมณ์ก็สละบูชาพระศาสดาอีก จึงพระราชทานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด พราหมณ์จึงรับไว้เพียง 2 คู่ คู่หนึ่งสำหรับตนอีกคู่สำหรับนางพราหมณี ที่เหลือถวายพระศาสดา


พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า พราหมณ์บูชาถึงขนาดนั้นจึงใคร่จะพระราชทานอีกจึงตรัสให้นำผ้ากำพลคู่หนึ่งที่มีมูลค่าถึงหนึ่งแสนมาให้แก่พราหมณ์พราหมณ์เห็นผ้าควรค่าแก่พระศาสดาและสงฆ์มากกว่าจึงถวายเป็นผ้าดาดตรงเพดานเหนือพระแท่นบรรทมในพระคันธกุฏีและตรงเพดานในโรงฉันของภิกษุ


พระราชาเมื่อเสด็จมาเฝ้าพระศาสดา ทรงจำผ้าได้ ทรงมีดำริว่า พราหมณ์ก็ศรัทธาในฐานะเดียวกับพระองค์จึงพระราชทานสิ่งต่าง ๆ ในจำนวนอย่างละ 4 แก่พราหมณ์เป็นจำนวนมากเช่น ช้าง 4 ,ม้า 4 ,กหาปณะ 4 พัน , สตรี 4, ทาสี 4, บุรุษ 4, บ้านส่วย 4
 

ความหมายที่ถูกต้องของชิตัง เม

ไม่ใช่การสละ เพื่อได้รับตอบแทนในปริมาณมากกว่า แต่คือการให้เพื่อสละความอยากได้ ความหวงแหน

การได้ของพราหมณ์อาจชวนให้เราเข้าใจไปว่า หากเราสละบางส่วนเพื่อผู้อื่น เพื่อสาธารณประโยชน์เราจะได้สิ่งต่าง ๆ ตอบแทนมาในปริมาณที่มากกว่า

หากมีความเข้าใจอย่างนี้ก็ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ใจในภายหลัง เพราะการได้สิ่งใด ๆ ตามมาอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้  แต่สิ่งที่ได้แล้วในทันทีที่สละ คือ ความสุขจากการเอาชนะใจที่หวงแหนได้

ในความถูกต้องแล้ว ชาวพุทธควรใคร่ครวญแล้วจึงสละเพื่อไม่ให้ตน บุคคลรอบข้าง และผู้รับ เดือดร้อนมากเกินไปนัก เพื่อเป็นการให้ทานที่มีความสุขใจ ทั้งก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังจากให้แล้ว 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow