Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกร็ดประวัตินางวิสาขา และเครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์ อันลือลั่น

Posted By มหัทธโน | 27 ก.พ. 60
29,246 Views

  Favorite

 

เครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์

ธนญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบิดานางวิสาขา ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาวในการแต่งงาน ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง 9 โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก 1 แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก

 

 
ที่มา : Postjung.com สืบค้นจาก https://board.postjung.com/736585.html
ภาพที่จินตนาการกันว่า เป็นเครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์

 

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา

ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น

1. ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง 20 คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ 20 คน นางก็มีหลานนับได้ 400 คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ 20 คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ 8,000 คน ดังนั้น คนจำนวน 8,420 คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง 120 ปี


แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั่นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน

2. นางมีกำลังมากเท่ากับช้าง 5 เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่มีกำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราก็จะเป็นบาป ควรจะรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า”

นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยงไปปรากฏว่าช้างถึงกับล้มกลิ้งแต่ไม่เป็นอันตราย

 

ภาพ : Buddha Prepping

 

นางวิสาขาสร้างวัด

วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้าน นางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว

 

ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา 9 โกฏิ กับ 1 แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้

 

ภาพ : Postjung.com

 

ตัดสินใจซื้อเอง เพราะไม่มีใครรับซื้อไหว

นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุ สงฆ์สามเณร พระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท 2 ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ 500 ห้อง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 9 เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า
“พระวิหารบุพพาราม”
 

 

อ้างอิงเรื่องราวจากพระไตรปิฏก
ฉบับ อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔

๖. วิหารวิมาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี. 


สมัยนั้น มหาอุบาสิกาวิสาขาพร้อมด้วยเพื่อนหญิงและบริวารชน ต่างขะมักเขม้นอาบน้ำแต่งตัว เพื่อจะเที่ยวอุทยานในวันรื่นเริงวันหนึ่ง นางบริโภคโภชนะอย่างดี ประดับมหาลดาประสาธน์แวดล้อมไปด้วยเพื่อนหญิงประมาณ ๕๐๐ คน ออกจากเรือนด้วยอิสริยะอันยิ่งใหญ่ ด้วยการกำหนดการที่ยิ่งใหญ่ กำลังเดินตรงไปยังอุทยาน คิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยการเล่นที่เปล่าประโยชน์ เหมือนเด็กหญิงโง่ๆ เอาละ เราจักไปวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและไหว้พระคุณเจ้าทั้งหลายที่น่าเจริญใจ และจักฟังธรรม. ถึงวิหารแล้วหยุดในที่สมควรแห่งหนึ่ง เปลื้องมหาลดาประสาธน์มอบไว้ในมือของหญิงรับใช้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่วิสาขามหาอุบาสิกานั้น. 

 

นางฟังธรรมถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทำประทักษิณ และไหว้ภิกษุทั้งหลายที่น่าเจริญใจ ออกจากวิหารไปได้หน่อยหนึ่ง กล่าวกะหญิงรับใช้ว่า เอาละแม่สาวใช้ ฉันจักประดับเครื่องประดับ. หญิงรับใช้นั้นห่อเครื่องประดับวางไว้ในวิหารแล้วเที่ยวไปในที่นั้นๆ ลืมของไว้ เมื่อประสงค์จะกลับนึกขึ้นได้จึงพูดว่า ดิฉันลืมของไว้เจ้าค่ะ หยุดก่อนนายท่าน ดีฉันจักไปนำมา. 
               

นางวิสาขากล่าวว่า นี่เจ้า ถ้าเจ้าลืมเครื่องประดับนั้นไว้ในวิหาร ฉันจักบริจาคเครื่องประดับเพื่อสร้างวิหารนั้นนั่นแหละ นางไปวิหารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วแจ้งความประสงค์ของตน กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักสร้างวิหาร ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอนุเคราะห์รับไว้เถิด 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ. 


นางวิสาขาสละเครื่องประดับนั้นซึ่งมีราคาถึงเก้าโกฏิเจ็ดพันเหรียญ สร้างปราสาทหลังใหญ่สมควรเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ ประดับด้วยห้องหนึ่งพันห้อง คือชั้นล่างห้าร้อยห้อง ชั้นบนห้าร้อยห้อง เช่นเสมือนเทพวิมานมีภูมิพื้นดุจคลังแก้วมณี มีส่วนของเรือนเป็นต้นว่า ฝา เสา ขื่อ จันทัน ช่อฟ้า บานประตู หน้าต่างและบันไดที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระผู้ควบคุมการก่อสร้าง จัดไว้อย่างดี น่าจับใจ งานไม้ที่น่ารื่นรมย์ก็ตกแต่งสำเร็จเป็นอย่างดี งานปูนก็พิถีพิถันทำอย่างดีน่าปลื้มใจ วิจิตรไปด้วยจิตรกรรมมีมาลากรรม ลายดอกไม้ และลดากรรมลายเถาไม้เป็นต้นที่ประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม และสร้างปราสาทห้องรโหฐานหนึ่งพันปราสาทเป็นบริวารของปราสาทใหญ่นั้น และสร้างกุฎีมณฑป และที่จงกรมเป็นต้นเป็นบริวารของปราสาทเหล่านั้น ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสร้างวิหารเสร็จ 

 

เมื่อวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาใช้เงินฉลองวิหารถึงเก้าโกฏิเหรียญ นางพร้อมด้วยหญิงสหายประมาณ ๕๐๐ คนขึ้นปราสาท ได้เห็นสมบัติของปราสาทนั้น ดีใจกล่าวกะพวกเพื่อนหญิงว่า เมื่อฉันสร้างปราสาทหลังนี้งามถึงเพียงนี้ ขอเธอทั้งหลายจงอนุโมทนาบุญที่ฉันขวนขวายนั้น ฉันขอให้ส่วนบุญแก่พวกเธอ. 
              

เพื่อนหญิงทั้งหมดมีใจเลื่อมใสต่างอนุโมทนาว่า อโห สาธุ อโห สาธุ ดีจริงๆ ดีจริงๆ. 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow