Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องกรรม เรื่องเวร โดย สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

Posted By มหัทธโน | 21 ก.พ. 60
17,080 Views

  Favorite

 

 

เรื่องกรรม เรื่องเวร

โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19
==============

หลักพระพุทธศาสนา

"เวร และวิธีป้องกันระงับเวร"


การผูกเวร 

“ฝากไว้ก่อนเถิด รอให้ถึงทีเราบ้าง” นาย ข. คิดผูกใจไว้เมื่อถูกนาย ก. ข่มเหงคะเนงร้าย ต่อมาเมื่อนาย ข. ได้โอกาสก็ทำร้าย นาย ก. ตอบแทน นาย ก. ก็ทำร้ายนาย ข. ตอบเข้าอีก แล้วต่างก็ทำร้ายตอบ
กันไปตอบกันมา ตัวอย่างนี้แหละเรียกว่า เวร
 

บางรายผูกเวรกันไปชั่วลูกชั่วหลาน บางรายผู้ใหญ่ผูกเวรกันแล้ว ยังห้ามไม่ให้บุตรหลานของตนผูกมิตรกันอีกด้วย ถือว่าไปผูกมิตรกับลูกหลานศัตรู มิใช่แต่ต้องร้ายแรงจึงเรียกว่าเวร ถึงรายย่อย ๆ ดังการตอบโต้กันในวงด่าวงชกต่อย ก็เรียกว่าเวร
 

เช่น นาย ก. ด่า นาย ข. ชกต่อย นาย ข. ก่อน นาย ข. ก็ด่าตอบชกต่อยตอบ แล้วต่างก็ด่าและต่างก็ชกต่อยกันอุตลุด บางทีวงวิวาทขยายออกไป คือ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำก็ไปบอกพรรคพวกร่วมคณะร่วมโรงเรียนให้พลอยโกรธ แล้วยกพวกไปชกต่อยต่อสู้กันขยายวงเวรออกไป บางรายเด็กทะเลาะกัน แล้วไปฟ้องผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายเข้ากับเด็กที่เป็นบุตรหลานของตนก็ออกต่อว่าต่อปากวิวาทกัน

 

เวรวงเล็กก็ขยายออกเป็นเวรวงใหญ่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทะเลาะวิวาทกันรายใหญ่ ๆ มิใช่น้อยเกิดจากมูลเหตุที่เล็กนิดเดียว ดังนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

วงเวรในระหว่างบุคคลให้เกิดความเสียหายในวงแคบ ส่วนวงเวรในระหว่างหมู่คณะให้เกิดความเสียหายในวงกว้างออกไป ยิ่งวงเวรในระหว่างประเทศชาติ ในระหว่างค่ายของชาติทั้งหลาย ยิ่งให้เกิดความเสียหายกว้างขวางตลอดจนถึงทั้งโลก เหล่านี้เป็นเรื่องของเวรทั้งนั้น

 

ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจควบคู่กันไปกับเรื่องกรรมเวรคืออะไร

เวร คือ ความเป็นศัตรูกันของบุคคล 2 คนหรือ 2 ฝ่าย
เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บ และคิดแก้แค้นตอบแทน

 

เวรจึงประกอบด้วยบุคคล 2 คนหรือ 2 ฝ่าย คือ ผู้ก่อความเสียหาย 1 ผู้รับความเสียหาย 1

บุคคลที่ 2  นี้ผูกใจเจ็บแค้น จึงเกิดความเป็นศัตรูกันขึ้น นี้แหละคือเวร

 

ภาพ : Shutter Stock

 

เวรเกิดจากอะไร

เวรเกิดจากความผูกใจเจ็บแค้นของบุคคลที่ 2 คือ ผู้รับความเสียหาย

 

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า

“ ชนเหล่าใดผูกอยู่ว่า
คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา 
ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา
เวรของชนเหล่านั้น ไม่สงบ”

 

ดังนี้ ทั้งนี้เพราะลำพังบุคคลที่ 1 ฝ่ายเดียวก็ยังไม่เป็นเวรสมบูรณ์ ต่อเมื่อบุคคลที่ 2 ผูกใจเจ็บไว้จึงเกิดเป็นเวรสมบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลที่ 2 นั้นไม่ผูกใจเจ็บ ก็ไม่เกิดเป็นเวรขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้นความเกิดเป็นเวรขึ้นจึงมีเพราะบุคคลที่ 2 เป็นสำคัญ

 

เห็นอย่างง่าย ๆ ในเรื่องเวรสามัญ

เมื่อมีใครทำความล่วงเกินอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อเรา เมื่อเราไม่ผูกอาฆาต เขาและเราก็ไม่เกิดเป็นศัตรูกัน คือ ไม่เกิดเป็นคู่เวรกันนั่นเอง เหมือนอย่างตบมือข้างเดียว ไม่เกิดเสียง

 

เวรระงับเพราะอะไร

เวรระงับเพราะบุคคลที่ 2 ไม่ผูกอาฆาตดังกล่าวแล้ว


พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้โดยความว่า

 

“ ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกอยู่ว่า
คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ


เวรไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหน ๆ เลย
แต่ย่อมระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร”

 

ดังนี้น่าคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้

บุคคลที่ 2 เป็นผู้ที่น่าติมากกว่าบุคคลที่ 1 เพราะทำให้เป็นเวรขึ้น ในเรื่องเวรก็เป็นความจริงอย่างนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ
เหมือนอย่างเป็นความกันในโรงศาล เมื่อมีใครเป็นโจทก์ฟ้องใครเป็นจำเลยขึ้นจึงเกิดเป็นความ คดีถึงที่สุดหรือโจทก์ถอนฟ้องเสียเมื่อใดความก็ระงับเมื่อนั้น

แต่ถ้าจำเลยไม่เป็นตัวการก่อกรรมเสียหายแก่โจทก์ เมื่อกล่าวโดยปกติมิใช่แกล้งกันแล้ว โจทก์ก็คงไม่ฟ้อง ฉันใดก็ดี บุคคลที่ 1 นั้นเองเป็นมูลเหตุของเวร เพราะเป็นตัวการก่อกรรมเสียหายขึ้นก่อน

 

เวรเกี่ยวกับกรรมอย่างไร ? 

เวรเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ 1 ซึ่งทำความเสียหายให้แก่บุคคลที่ 2 และเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ 2 ซึ่งทำตอบด้วย

 

ดังเช่น

นาย ก. ฆ่า นาย ข. ลักทรัพย์ของนาย ข. นาย ข. จึงผูกใจอาฆาต เกิดเป็นเวรกันขึ้น นี้ก็เพราะกรรมของนาย ก. นั่นเอง ซึ่งทำแก่นาย ข.
และนาย ข. ก็ผูกใจทำตอบ

 

ฉะนั้น เวรจึงเกี่ยวแก่กรรมของบุคคลนั่นเอง ที่ยังให้เกิดความเสียหายเจ็บแค้นแก่คนอื่น
กรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ละเว้นในศีล 5 คือการฆ่าสัตว์ 1 การลักทรัพย์ 1 การประพฤติผิดประเพณีในทางกาม 1 การพูดเท็จ 1 การดื่มน้ำเมา 1 เรียกว่าเวร 5 หรือภัย 5 อย่าง
เพราะเป็นกรรมที่ก่อเวรก่อภัยทั้งนั้น

 

เช่น การฆ่าสัตว์ ก็มีผู้ฆ่าฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน

การลักทรัพย์ก็มีผู้ลักฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกลักอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง

 

เมื่อกล่าวโดยรวบรัด เวรเกิดจากกรรมที่ก่อความเสียหายให้แก่ใคร ๆ นั่นเอง

ภาพ : Shutter Stock

 

ผลของเวร ต่างจากผลของกรรมอย่างไร ?

ผลของกรรมได้แสดงแล้วว่า ผลดีต่าง ๆ เกิดเพราะกรรมดี ผลชั่วต่าง ๆ เกิดเพราะกรรมชั่ว
ส่วนผลของเวร คือ ความทุกข์ที่บุคคล 2 ฝ่ายผู้เป็นศัตรูคู่เวรก่อให้แก่กัน

 

กรรมเมื่อให้ผลแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างผู้ต้องโทษครบกำหนดแล้วก็พ้นโทษ

ส่วนเวร เมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ยังผูกใจเป็นศัตรูกันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับตราบนั้น แต่เมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายเลิกเป็นศัตรูกันเมื่อใด เวรก็ระงับเมื่อนั้น ฉะนั้น เวรจึงอาจยาวก็ได้ สั้นก็ได้ สุดแต่บุคคล 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

สัตว์บางชนิดพบกันเข้าไม่ได้ เป็นต้องทำร้ายกัน เช่น กากับนกเค้าแมว 

บัณฑิตผู้ฉลาดในการสอน ยกเป็นตัวอย่างของเวรที่ผูกกันยืดยาวไม่รู้จบเหมือนกับผูกกันมาตั้งแต่ปฐมกัลป์ และผูกกันไปไม่สิ้นสุด ในหมู่มนุษย์บางชาติบางเหล่าก็คล้าย ๆ กัน อย่างนั้น

 

เรื่องทีฆาวุกุมาร นิทานเรื่องระงับเวร

 

ท่านเล่าเป็นเรื่องสอนให้ระงับเวร ดังจะเล่าโดยย่อต่อไป
มีเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วว่า พระเจ้าพรหมทัตครอบครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ในรัฐกาสี ได้เสด็จกรีธาทัพไปย่ำยีพระเจ้าทีฆีติ แห่งแคว้นโกศล


พระเจ้าทีฆีติทรงประมาณกำลังเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ได้ จึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนคร ปลอมพระองค์เป็นปริพาชก (ชีปะขาว) ไปทรงอาศัยอยู่ในบ้านของนายช่างหม้อที่ชานเมืองพาราณสี ซึ่ง
เป็นนครของราชศัตรู ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยกทัพเข้าครอบครองแคว้นโกศล ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติทรงพระครรภ์เกิดอาการแพ้พระครรภ์ ด้วยทรงอยากทอดพระเนตรกองทัพประกอบ
ด้วยองค์ 4 คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบ ในเวลาอาทิตย์ขึ้น และอยากจะทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์ จึงกราบทูลพระราชสวามี


พระเจ้าทีฆีติพระราชสวามีได้ตรัสห้าม พระนางก็ตรัสยืนยันว่าถ้าไม่ทรง ได้ก็จักสิ้นพระชนม์ ครั้งนั้นพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตเป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติ พระเจ้าทีฆีติจึงเสด็จไปหาตรัสเล่าความให้ฟัง ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตก็ขอไปเฝ้าพระเทวีก่อน พระเจ้าทีฆีติทรงนำไปยังบ้านที่พักอาศัย พราหมณ์ปุโรหิตได้เห็นพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติเสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ยกมือพนมนอบน้อมไปทางพระนางเปล่งวาจาขึ้นว่า

 

“พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระครรภ์” แล้วกล่าวรับรองจะจัดการให้พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพทั้งสี่เหล่า และได้ดื่มน้ำล้างพระขรรค์ พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกราบทูลว่า
ได้เห็นนิมิตบางอย่าง ขอให้ทรงจัดกองทัพสี่เหล่าให้ยกออกตั้งขบวนในสนามในเวลารุ่งอรุณวันพรุ่งนี้ และให้ล้างพระขรรค์

 

พระเจ้าพรหมทัตทรงอำนวยตาม พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติจึงได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพและได้ทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์สมอาการที่ทรงแพ้ครรภ์ ต่อมาได้ประสูติพระโอรส ตั้งพระนามว่า ทีฆาวุ
เมื่อทีฆาวุกุมารเติบโตขึ้นพระเจ้าทีฆีติทรงส่งออกไปให้ศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ในภายนอกพระนคร เพราะทรงเกรงว่า ถ้าพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบจักปลงพระชนม์เสียทั้ง 3 พระองค์ ต่อมานายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งมาอาศัยอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัตได้เห็นพระเจ้าทีฆีติที่ชานพระนครก็จำได้ จึงไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ


พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าทีฆีติพร้อมทั้งพระมเหสีมาแล้วรับสั่งให้พันธนาการ ให้โกนพระเศียรให้นำตระเวนไปตามถนนต่าง ๆ ทั่วพระนคร แล้วให้นำออกไปภายนอกพระนคร ให้ตัดพระองค์
เป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ พวกเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติตามพระราชบัญชา ในขณะที่เขานำพระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีตระเวนไปรอบพระนครนั้น ทีฆาวุกุมารได้ระลึกถึงพระราชมารดาบิดา จึงเข้ามาเพื่อจะมาเยี่ยม ก็
ได้เห็นพระราชมารดาบิดากำลังถูกพันธนาการ เขากำลังนำตระเวนไปอยู่ จึงตรงเข้าไปหา


ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสกำลังมาแต่ไกลก็ตรัสขึ้นว่า

“พ่อทีฆาวุ
เจ้าอย่าเห็นยาว อย่าเห็นสั้น
 

พ่อทีฆาวุ
เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย
แต่ย่อมระงับด้วยความไม่ผูกเวร”

 

พอพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ยินพระดำรัสนั้น ก็พากันกล่าวว่าพระเจ้าทีฆีติเสียพระสติรับสั่งเพ้อไป
 

พระเจ้าทีฆีติก็ตรัสว่า

"พระองค์มิได้เสียสติ ผู้ที่เป็นวิญญูจักเข้าใจ"

 

 แล้วได้ตรัสซ้ำ ๆ ความอย่างนั้นถึง 3 ครั้ง เมื่อพวกเจ้าหน้าที่นำตระเวนแล้วก็นำออกนอกพระนคร ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ แล้วตั้งกองรักษา ทีฆาวุกุมารได้นำสุราไปเลี้ยงพวกกองรักษาจนเมาฟุบหลับหมดแล้ว เก็บพระศพของพระมารดาบิดามารวมกันเข้าถวายพระเพลิง เสร็จแล้วก็เข้าป่า ทรงกันแสงคร่ำครวญจนเพียงพอแล้วก็เข้าสู่กรุงพาราณสี ไปสู่โรงช้างหลวงฝากพระองค์เป็นศิษย์นายหัตถาจารย์

 

ในเวลาใกล้รุ่ง ทีฆาวุกุมารมักตื่นบรรทมขึ้น ทรงขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะและดีดพิณ พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับเสียง รับสั่งถามทรงทราบแล้วตรัสให้หาทีฆาวุกุมารเข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารก็โปรดให้เป็นมหาดเล็กในพระองค์ ทีฆาวุกุมารได้ตั้งหทัยปฏิบัติพระเจ้าพรหมทัตเป็นที่โปรดปรานมาก ในไม่ช้าก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ประจำในตำแหน่งเป็นที่วางพระราชหฤทัยในภายใน

 

วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จทรงรถออกไปทรงล่าเนื้อ ทีฆาวุกุมารเป็นนายสารถีรถพระที่นั่ง ได้นำรถพระที่นั่งแยกทางไปจากพวกทหารรักษาพระองค์ ครั้นไปไกลมากแล้ว พระเจ้าพรหมทัตทรงเหน็ดเหนื่อย มีพระราชประสงค์จะบรรทมพัก จึงโปรดให้หยุดรถ แล้วทรงบรรทมหนุนบนเพลา (หน้าตัก) ของทีฆาวุกุมาร ครู่เดียวก็บรรทมหลับ


ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดถึงเวรขึ้นว่า

“พระเจ้าพรหมทัตนี้ ได้ทรงประกอบกรรมก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของตน บัดนี้ถึงเวลาจะสิ้นเวรกันเสียที”

 

จึงชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก ในขณะนั้น พระดำรัสของพระราชบิดาก็ผุดขึ้นในหทัยของทีฆาวุกุมาร เตือนให้คิดว่าไม่ควรละเมิดคำของพระราชบิดาจึงสอดพระขรรค์เข้าฝัก

 

ครั้นแล้วความคิดที่เป็นเวรก็เกิดผุดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 2 ทีฆาวุกุมารก็ชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก แต่เมื่อระลึกถึงพระดำรัสของพระราชบิดาก็สอดพระขรรค์เก็บอีก ในครั้งที่ 3 ก็เหมือนกัน ทีฆาวุกุมารชักพระขรรค์ขึ้นแล้วด้วยอำนาจเวรจิต แล้วก็สอดพระขรรค์เก็บด้วยอำนาจดำรัสของพระราชบิดา

 

ในขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงสะดุ้งเสด็จลุกขึ้นโดยฉับพลัน มีพระอาการตกพระทัยกลัวทีฆาวุกุมารจึงกราบบังคมทูลถาม จึงรับสั่งเล่าว่า ทรงพระสุบินเห็นทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ แทงพระองค์
ให้ล้มลงด้วยพระขรรค์

 

ทันใดนั้นทีฆาวุกุมารก็จับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วยหัตถ์ซ้าย ชักพระขรรค์ออกด้วยหัตถ์ขวาทูลว่า

“เรานี้แหละคือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งพระองค์ได้ทำความทุกข์ยากให้อย่างมากมาย จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจำทำให้สิ้นเวรกันเสียที”

 

พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงหมอบลงขอชีวิต

“ ข้าพระองค์อาจจะถวายชีวิตแก่พระองค์ได้อย่างไร พระองค์นั่นเองพึงประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์”

“พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ให้ชีวิตแก่เจ้า”

 

พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารทั้งสองจึงต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ต่างได้ทำการสบถสาบานว่าจะไม่คิดทรยศต่อกัน ครั้นแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จขึ้นประทับรถ ทีฆาวุกุมารก็ขับรถมาบรรจบพบกองทหารแล้วเข้าสู่พระนคร

 

พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ตรัสถามว่า
"ถ้าพบทีฆาวุกุมารโอรส พระเจ้าทีฆีติจะพึงทำอย่างไร ?"

 

อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า
"ให้ตัดมือตัดเท้าตัดหูตัดจมูกบ้าง ให้ตัดศีรษะบ้าง" 


พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า

“ผู้นี้แหละคือทีฆาวุกุมาร โอรสพระเจ้าทีฆีติ แต่ใครจะทำอะไรๆ ไม่ได้ เพราะกุมารนี้ ให้ชีวิตแก่เราแล้ว และเราก็ให้ชีวิตแก่กุมารนี้แล้ว”

 

แล้วทรงหันไปตรัสขอให้ทีฆาวุกุมารอธิบายพระดำรัสของพระราชบิดาในเวลาที่จะสิ้นพระชนม์ ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลอธิบายว่า

“คำว่า อย่าเห็นยาว คือ อย่าได้ทำเวรให้ยาว

คำว่า อย่าเห็นสั้น คือ อย่าด่วนแตกกับมิตร

คำว่า เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย

แต่ย่อมระงับด้วยความไม่ผูกเวร

คือ ถ้าข้าพระองค์คิดว่า

พระองค์ทรงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของข้าพระองค์ 

จึงปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย 

 

พวกคนที่จงรักภักดีต่อพระองค์

ก็จะพึงปลงชีวิตข้าพระองค์

 

ส่วนพวกคนที่ชอบข้าพระองค์

ก็จะพึงปลงชีวิตพวกคนเหล่านั้น

เวรจึงไม่ระงับลงได้ด้วยเวรอย่างนี้

 

แต่ว่าบัดนี้ พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์

และข้าพระองค์ก็ได้ถวายชีวิตแก่พระองค์แล้ว

เวรนั้นจึงเป็นอันระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร”


พระเจ้าพรหมทัตตรัสสรรเสริญแล้วพระราชทานคืนราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติ และได้พระราชทานพระราชธิดาแก่ทีฆาวุกุมาร


เรื่องนี้สมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำฉันท์เรียกว่า ทีฆาวุคำฉันท์ใจไทย นิทาน เรื่องระงับเวรที่เล่านี้เป็นเรื่องโบราณ

 

ยังมีนิทานเรื่องระงับเวรในระยะเวลาใกล้ ๆ นี้ คือในสงครามโลกคราวที่แล้ว เมื่อญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย จับฝรั่งมาเป็นเชลยกำหนดให้ทำงานต่าง ๆ คนไทยก็พากันสงสารเชลยฝรั่ง และแสดงเมตตาจิตสงเคราะห์ จะเห็นพวกชาวบ้านหาบคอนผลไม้ไปคอยให้ พากันช่วยเจือจานต่าง ๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่เวรคู่ศัตรู ครั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามกลับเป็นเชลย คนไทยก็กลับสงสารญี่ปุ่น อำนาจเมตตาจิตของคนไทยส่วนรวมนี้เชื่อกันว่า เป็นเครื่องผูกมิตรในจิตใจของทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยประเทศไทยไว้อย่างมากมาย ถ้าคนไทยมีนิสัยผูกเวรมากกว่าผูกมิตรแล้ว เหตุการณ์ก็น่าจะไม่เป็นเช่นนี้

 

ภาพ : Shutter Stock

 

วิธีระงับเวรและป้องกัน

อาศัยการปฏิบัติตามคำที่ทุกคนคงได้ฟังจนคุ้นหู คือ

“ขออภัย” กับคำว่า “ให้อภัย”
เมื่อใครทำอะไรล่วงเกินแก่คนอื่น ก็กล่าวคำขออภัยหรือขอโทษ ฝ่ายผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ให้อภัยคือยกโทษให้ 

 

คนเราต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ คือ ร่วมบ้านเรือน ร่วมโรงเรียน ร่วมประเทศชาติ เป็นต้น ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็อาจจะประพฤติล่วงเกินกันบ้างเพราะความประมาทพลั้งเผลอต่าง ๆ ถ้าต่างไม่รู้จักขออภัยและไม่รู้จักให้อภัยแก่กันและกันแล้ว ก็จะทะเลาะวิวาทกัน แตกญาติแตกมิตรแตกสหายกัน ไม่มีความสงบสุข
นี้แหละคือเวร อันได้แก่ความเป็นศัตรูกันหรือที่เรียกอย่างเบาๆ ว่าไม่ถูกกันนั้นเอง


อนึ่ง จะคิดว่าล่วงเกินเขาแล้วก็ขอโทษเขาได้ ดังนี้แล้ว ไม่ระมัดระวังในความประพฤติของตนก็ไม่ถูก เพราะโดยปกติสามัญ ย่อมให้อภัยกันในกรณีที่ควรให้อภัย ซึ่งผู้ประพฤติล่วงเกินแสดงให้เห็นได้ ว่าทำไป
ด้วยความประมาทหรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาและให้เกิดโทษไม่มากนัก

 

คนที่มีจิตใจสูงเป็นพิเศษเท่านั้น จึงจะให้อภัยในเรื่องที่ร้ายแรงได้ ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย และถึงแม้จะให้อภัยในส่วนตัว 

 

แต่กฏหมายของบ้านเมืองไม่ยอมอภัยให้ก็มี และโดยเฉพาะเมื่อเป็นบาป หรืออกุศลกรรมแล้ว กรรมที่ตนก่อขึ้นไม่ให้อภัยแก่ผู้ก่อกรรมนั้นเลย

ฉะนั้น ทางที่ดีจึงควรมีสติระมัดระวัง มีขันติ คือ ความอดทน มีโสรัจจะ คือความสงบเสงี่ยม คอยเจียมตน ประหยัดตน ไม่ให้ก่อเหตุเป็นเวร เป็นภัยแก่ใคร

 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า

“สญฺญมโต เวรํ น จียติ

ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร”


ธรรมเนียมไทย

ธรรมเนียมที่คนไทยเรานิยมกัน นาคผู้ จะบวชนิยมไปลาญาติมิตรขออัจจโยโทษ คือ ขอโทษ ในกรรมที่ตนได้ประพฤติล่วงเกินไปแล้ว และเมื่ออุปสมบทแล้ว ในพิธีเข้าพรรษาซึ่งในศก 2503 นี้ ตกวันที่ 9 กรกฎาคม ก็มีธรรมเนียมขอขมากันในหมู่สงฆ์ เป็นการแสดงว่าพร้อมที่จะระมัดระวังความประพฤติของตนไม่ให้ล่วงเกินกัน พร้อมที่จะขอขมาคือขอโทษและพร้อมที่จะให้อภัยโทษแก่กัน เป็นวิธีผูกมิตรสามัคคีในหมู่คณะ


บัดนี้ ก็ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา ทุก ๆ คน จึงสมควรร่วมทำพิธีเข้าพรรษากับพระสงฆ์บูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการ 
1. ตั้งใจระมัดระวังความประพฤติของตนไม่ให้ล่วงละเมิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใครๆ ทั้งในบ้าน ทั้งในโรงเรียน ทั้งในสถานที่อื่น 
2. ตั้งใจว่าพร้อมที่จะขออภัย ขอโทษ ในเมื่อไปล่วงเกินต่อใครๆ 
3. ตั้งใจว่าพร้อมที่จะให้อภัยแก่ใครๆ ตามควรแก่กรณี ฉะนี้แล

 

2 กรกฎาคม 2503
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :

บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้น และเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. 2502-2504 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือเพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ 60 ทัศ วันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2516

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow